วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เหตุผลที่หลายองค์กรเปลี่ยนใจรับพนักงานที่มีประสบการณ์แทนเด็กจบใหม่

Business people standing with question mark on boards

เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับองค์กรที่ต้องการพนักงานเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการหาพนักงานเพื่อขยายงาน หรือทดแทนคนเก่าที่ออกไป และนโยบายเรื่องของการสรรหาคัดเลือกในแต่ละองค์กรก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกัน ออกไป แล้วแต่ว่า มุมมองของผู้บริหาร และแผนกลยุทธ์ขององค์กรนั้น เป็นอย่างไร ต้องการพนักงานในลักษณะใดเข้ามาทำงาน


นโยบายในการสรรหาคัดเลือกพนักงานที่หลายองค์กรกำหนดไว้ ก็คือ การรับพนักงานใหม่ ซึ่งเป็นพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ เลย ยังไม่มีประสบการณ์ใดๆ ในการทำงานเข้าทำงาน นโยบายนี้ ผู้บริหารกำหนดไว้ เพื่อที่จะหาเด็กที่มีความสามารถ มีศักยภาพ และเอาเข้ามาปั้นเพื่อให้เป็นพนักงานที่ดีของบริษัท เพราะเชื่อว่า เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานนั้น น่าจะสอนได้ง่าย และเรียนรู้ได้เร็ว และยังไม่มีความเชื่อหรือทัศนคติที่มาจากประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งบางครั้งทำให้สอนได้ยาก

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในปัจจุบันนี้ องค์กรที่เคยคิดว่าจะรับเด็กจบใหม่เข้ามาฝึกนั้น ก็เริ่มเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยหันไปรับเด็กที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว เข้ามาทำงาน เท่าที่สอบถามดูว่าทำไมถึงเปลี่ยนนโยบายไม่รับเด็กจบใหม่แล้ว คำตอบที่ได้ก็มีดังนี้ครับ
  • เรียกเงินเดือนสูงมาก ทั้งๆที่ยังไม่มีประสบการณ์ เด็กจบใหม่ รุ่นใหม่ๆ นั้นมักจะเรียกเงินเดือนที่สูงมาก บางคนเรียกสูงจนบริษัทยังไงก็ไม่สามารถจ่ายในอัตราที่เรียกได้เลย ซึ่งจริงๆ จะสูงหรือไม่สูง บางบริษัทก็ไม่ได้คิดมาก เพียงแต่ติดที่ว่า ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ใดๆ เลย แต่ทำไมถึงเรียกเงินเดือนสูงขนาดนั้น คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานยังเรียกเงินเดือนไม่ได้สูงขนาดนี้เลย ซึ่งก็ส่งผลให้การสรรหาคัดเลือกเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น และนายจ้างเองก็เริ่มคิดว่า ถ้าจะต้องจ้างสูงขนาดนี้ สู้จ้างคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว ไม่ดีกว่าหรือ เพราะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และมีพื้นฐานการทำงานบางอย่างมาอยู่บ้าง ทำให้เราสอนงานได้เร็ว เพียงแต่จะต้องสรรหาให้เหมาะกับองค์กรมากหน่อยเท่านั้น
  • อยากได้เงินเดือนขึ้นเยอะๆ โบนัสมากๆ เด็ก จบใหม่ยังไม่เข้าใจในเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนขององค์กร คิดแค่เพียงว่า องค์กรจะต้องให้เงินเดือนเขาเยอะๆ โดยไม่เคยมองกลับมาที่ตนเองว่า แล้วตนเองสร้างผลงานอะไรให้กับองค์กรบ้าง บางคนผลงานไม่ดี แต่กลับเรียกร้องขอเงินเดือนขึ้นเยอะๆ โบนัสมากๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันส่งผลให้องค์กรมีปัญหาในการบริหารจัดการมากขึ้น
  • ไม่อดทนไม่สู้งานหนัก หลาย องค์กรให้เหตุผลเดียวกัน ว่า เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์นั้น เป็นคนที่ไม่อดทน ทำงานได้ไม่นาน ก็คิดจะเปลี่ยนงานแล้ว บางคนทำได้ไม่กี่เดือน ก็คิดจะลาออกแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำงานอย่างเต็มที่ บางคนได้รับงานที่เยอะ และหนักหน่อย ก็บ่นตลอด และสุดท้ายก็ทนไม่ได้ต้องลาออกเพื่อไปหางานใหม่ องค์กรก็ต้องเสียเวลารับและฝึกกันใหม่
  • เรียนต่อ เด็ก ที่เพิ่งจบปริญญาตรี แล้วเรารับเข้าทำงาน ไม่นานนัก เขาก็จะลาออก โดยให้เหตุผลว่าออกไปเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งทำให้การทำงานขาดช่วง บางองค์กรลงทุนสอน อบรม และให้ความรู้อย่างเต็มที่ แต่ทำงานได้ไม่ถึง 3 ปีก็ลาออกไปเรียนต่อแล้ว ซึ่งทำให้องค์กรเกิดปัญหาที่จะต้องพัฒนาพนักงานอย่างไม่รู้จบ
  • ใช้เวลาในการพัฒนานานเกินไป อีก เหตุผลที่เริ่มไม่รับเด็กจบใหม่ ก็คือ องค์กรต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเติบโตในอัตราเร็วแบบนี้ ถ้าเราเอาเด็กจบใหม่มาพัฒนา มันไม่ทัน เพราะต้องสอนใหม่ตั้งแต่ต้น ประสบการณ์ในการทำงานก็ยังไม่เคยมีมาก่อน เวลาพูดอะไร ก็เข้าใจยาก เพราะไม่เคยทำงานมาก่อน สุดท้ายก็เลยเปลี่ยนเป็นรับพนักงานที่เคยทำงานมาบ้างดีกว่า เพราะเวลาที่สอน หรือพูดอะไรให้ฟัง ก็จะได้เข้าใจง่ายขึ้น และเร็วขึ้น ซึ่งทำให้องค์กรเติบโตได้เร็วอย่างที่ต้องการได้
ด้วยเหตุผลดัง กล่าว ก็เลยทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มที่ไม่รับเด็กจบใหม่ แต่นี่ก็เป็นแค่เพียงมุมมองขององค์กรที่เขาเริ่มเปลี่ยนนโยบายไป เพราะเดี๋ยวเด็กจบใหม่จะมองว่า ถ้าเป็นแบบนี้กันหมด เขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานเลยสิ ซึ่งจริงๆ ก็ต้องตอบว่า องค์กรบางแห่งยังรับอยู่ แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีแนวทางในการบริหารจัดการคนอย่างดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้

และจริงๆ ถ้ามองกันอีกมุมหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายคงต้องปรับตัวเข้าหากันให้มาขึ้น องค์กรเองก็คงต้องมองและเข้าใจถึงความต้องการของเด็กจบใหม่ พนักงานเองก็ต้องเข้าใจระบบและวิธีการทำงานขององค์กรเช่นกัน

แล้วบริษัทท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไรกับเด็กจบใหม่ในยุคนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น