วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พัฒนาพนักงานอย่างไรให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ

training123

ทุกวันนี้องค์กรของท่านผู้อ่านพัฒนาพนักงานกันอย่างไรครับ ผมเชื่อว่าน่าจะมีเครื่องมือในการพัฒนาพนักงานแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Competency ไม่ว่าจะเป็น Core, Managerial หรือ Functional หรืออาจจะเป็น Training Roadmap เพื่อที่จะวางแนวทางในการพัฒนาพนักงานกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะองค์กรส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การพัฒนาพนักงานเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญมากสำหรับการทำให้องค์กรเติบโตไปอย่างยั่งยืน


แล้วผลจากการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เป็นอย่างไรบ้างครับ พนักงานของเราได้รับการพัฒนาตามแผนเรียบร้อยแล้ว เขามีทักษะและความรู้ รวมถึงพฤติกรรมในการทำงานที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ อันนี้เป็นอีกเรื่องที่องค์กรส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้มีการพิสูจน์กันเลย รู้แค่เพียงว่า ถ้าเราพัฒนาพนักงานตามแผนแล้ว ก็น่าจะเชื่อได้ว่าพนักงานน่าจะเก่งขึ้น ดีขึ้นจริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยก็ได้

จริงๆ แล้ว เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนาพนักงานเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ไม่ได้ต่อต้าน หรือบอกว่าไม่ดี แต่เราจะต้องมีวิธีการที่มากกว่าแค่ใช้เครื่องมือไปตามที่มันเป็น เพื่อให้การพัฒนาพนักงานได้ผลจริงๆ แล้วอะไรล่ะครับ ที่ทำให้การพัฒนาพนักงานโดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ผล จริงๆ ในทางปฏิบัติ

แนวทางที่ระยะหลังๆ ผมเห็นมากขึ้น สำหรับการพัฒนาพนักงานก็คือ
  • พัฒนาพนักงานแบบเป็น Package กล่าวคือ กำหนดเรื่องราวที่ต้องการจะพัฒนาพนักงาน แบบเป็นชุดๆ ไป เช่น พัฒนาเรื่องของภาวะผู้นำ ก็ไม่ใช่แค่เพียงส่งไปเรียนเรื่องภาวะผู้นำก็จบไป แต่สร้างเรื่องราวของความเป็นผู้นำที่ดีว่า จริงๆ แล้วผู้นำที่ดีในองค์กรของเรานั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และสร้างเป็นหลักสูตรยาวๆ ขึ้นมา แล้วเรียนกันแบบจริงๆ จังๆ เพื่อมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้นตามที่บริษัทต้องการ
  • มีการประเมินคนที่จะถูกพัฒนา การที่พนักงานจะได้รับการพัฒนาได้นั้น ตัวพนักงานคนนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าตนเองตอนนี้เป็นอย่างไร มีทักษะในเรื่องนั้นๆ สักแค่ไหน ซึ่งการพัฒนาคนในระยะหลังๆ จะมีการสร้างเครื่องมือในการประเมินทักษะของพนักงานแต่ละคนที่จะต้องเข้ารับ การพัฒนา เพื่อให้พนักงานรู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหน ซึ่งการประเมินก็อาจจะเป็นแบบทดสอบ และอาจจะเป็นการประเมินโดยบุคคลที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า จะประเมินพฤติกรรมมาให้
  • มีการกำหนดแผนการเอาความรู้ไปใช้จริง ใน ระหว่างการฝึกอบรมแต่ละเรื่อง ก่อนจบการอบรมในเรื่องนั้นๆ จะมีการมอบหมายงานให้กับผู้เข้าอบรม ในการให้นำเอาความรู้ที่เรียนมานั้นไปใช้งานจริงๆ โดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการในการนำเอาความรู้ไปใช้ในการทำงานจริง ซึ่งจุดนี้เองที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหัวหน้างานของพนักงานที่ถูกส่งไป พัฒนา เพื่อให้มอบหมายงาน และตรวจสอบผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
  • ประเมินความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จาก นั้นก็จะมีการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพนักงานที่ได้รับการพัฒนา เป็นระยะๆ เช่นให้พนักงานรอบข้างทำการประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ว่าหลังจากที่ผ่านการอบรมไปแล้ว มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง และไม่ใช่แค่ประเมินครั้งเดียว แต่จะประเมินกันเป็นระยะๆ เพื่อทำให้พฤติกรรมเกิดขึ้นจริงๆ ในตัวคนที่ถูกพัฒนา
จะสังเกต ได้ว่า การพัฒนาพนักงานในระยะหลัง จะจริงจังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ส่งไปเรียนแล้วจบอีกต่อไป จะต้องมีการวางแผนกันแบบระยะยาว ต้องมีการประเมินพฤติกรรมพนักงานก่อนอบรม จากนั้นก็อบรม และหลังอบรม ก็จะมีการวางแผนในการนำเอาความรู้ไปใช้งานจริงๆ และทิ้งช่วงเวลาสัก 2-3 เดือน เพื่อที่จะประเมินกันอีกครั้ง เพื่อดูว่าพนักงานมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามที่เราต้องการหรือไม่

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกระดับจะต้องส่งเสริม และสนับสนุน เพื่อให้พนักงานคนนั้นได้นำเอาความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้จริงๆ ในการทำงาน ไม่ใช่มัวแต่ขัดขวาง และต่อต้าน เช่น คำพูดต่างๆ เหล่านี้
  • “อย่ามัวมาแต่ทฤษฎีไปหน่อยเลย เรียนมาก็เท่านั้นแหละ”
  • “ที่เรียนมามันใช้ในชีวิตจริงๆ ไม่ได้หรอก เก็บไว้เป็นความรู้อย่างเดียวก็พอ”
  • “อย่ามาโชว์ความรู้ใหม่เลย มันไม่สามารถใช้งานได้จริงที่นี่หรอก”
  • “อย่างคุณน่ะหรอ จะเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ได้จริงๆ”
  • อย่ามาดัดจริตไปหน่อยเลย สิ่งที่คุณพยายามทำตัวใหม่ มันไม่ใช่เลย”
  • ฯลฯ
คำพูด และวิธีการคิดของผู้จัดการแบบนี้ ล้วนแต่ขัดขวางแนวทางการพัฒนาพนักงานขององค์กรอย่างสิ้นเชิง ถ้าเรามีผู้จัดการที่คิดแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ ผมสามารถบอกได้เลยว่า บริษัทจะเสียเวลาและเสียงบประมาณในการพัฒนาพนักงานไปอย่างไม่มีประโยชน์อะไร เลย เพราะพัฒนามาแล้ว กลับถูกหัวหน้าและผู้จัดการส่วนใหญ่ขัดขวางการนำเอาความรู้ไปใช้งานจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น