วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทำไมหัวหน้างานจึงหวงคำชมกันนัก



คนที่เป็นพนักงานไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตามในองค์กร ก็ต้องมีหัวหน้างานของตนเองดูแลเราอยู่ ผมได้รับคำถามจากเหล่าพนักงานว่า “ทำไมหัวหน้างานถึงหวงคำชมกันนักนะ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องเสียตังเลยสักบาท แต่สามารถทำให้พนักงานรู้สึกหัวใจพองโตได้” ท่านเองละครับคิดแบบเดียวกันหรือเปล่า
เคยสอบถามพนักงานและผู้เข้าสัมมนาว่า “มีใครที่ได้รับคำชมจากหัวหน้ามากเกินไปบ้าง?” คำถามนี้เป็นคำถามจริงๆ ไม่ได้ประชดนะครับ เชื่อมั้ยครับ มีน้อยคนมากที่ยกมือ เรียกได้ว่าบางกลุ่มนั้นไม่มีใครยกมือเลยก็มีนะครับ

 แต่ถ้าถามว่ามีใครบ้างที่โดนหัวหน้าตำหนิมากเกินไป ยกมือกันให้พรึบเลยครับ ทำไมถึงเป็นแบบนั้นไปได้ จากผลการวิจัยและสอบถามโดยตรงจากหัวหน้างานที่ผมมีโอกาสไปบรรยายให้ฟัง ด้วยคำถามเดียวกันนี้ว่าทำไมถึงไม่ค่อยชมลูกน้องกัน คำตอบก็ออกมาดังนี้ครับ
  • ปากหนัก ไม่อยากพูดคำชมออกไป เพราะรู้สึกว่าตะขิดตะขวงใจมากมาย แต่คำตำหนิจะสะดวกใจที่จะพูดมากกว่า
  • มองว่าพนักงานต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่พนักงานทำได้ดีนั้น ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วก็เลยไม่จำเป็นต้องชมอะไรมากมาย แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องตามที่ได้รับมอบหมาย ก็ต้องตำหนิกันหน่อย เพื่อให้รู้ตัว
  • กลัวว่าชมแล้วลูกน้องจะเหลิง ก็คือคิดไปเองว่า ถ้าเราชมลูกน้อง แล้วลูกน้องจะเหลิง แล้วจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ก็เลยใช้คำตำหนิเพื่อที่จะทำให้ลูกน้องกลัว แล้วเราจะได้ควบคุมได้ง่ายกว่า
  • อยากชมแต่ชมไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรดี หัวหน้าส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ จะคล้ายๆ กับในข้อแรกครับ ก็คือ ไม่รู้จะชมอย่างไร กลัวว่าชมไปแล้วลูกน้องจะหาว่าเราไม่จริงใจ
จากผลการวิจัยของนักจิตวิทยาที่ Harvard ซึ่งศึกษาเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนเรานั้น เขาพบว่า การที่จะรักษาความสัมพันธ์ของเรากับใครก็ตามนั้น จะต้องมีสัดส่วนระหว่างคำชมกับคำตำหนิ อยู่ในอัตราส่วน 5:1 ก็คือ จะต้องมีคำชม 5 ครั้งในขณะที่ 1 ครั้งเป็นคำตำหนิ แล้วความสัมพันธ์ก็จะอยู่ยาวมากครับ

ตรงข้ามถ้าเรามีแต่ตำหนิกัน โทษกัน มองว่าคนอื่นผิดไปหมด โดยอัตราส่วนระหว่างคำชมกับคำตำหนิเป็น 1:5 แทน ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือเพื่อน หรือแม้กระทั่งครอบครัว ความสัมพันธ์ก็จะระหองระแหงไปตลอด

 ดังนั้นจากผลการวิจัยนี้น่าจะทำให้ทุกคนที่เป็นหัวหน้า เห็นความสำคัญของคำชมที่ให้กับพนักงานมากขึ้นนะครับ เนื่องจากโดยปกติแล้วคนเราทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสำคัญจากคนอื่นเสมอ ถ้าลูกน้องของเราได้รับรู้ว่าเขามีความสำคัญในการทำงานกับเรา ลูกน้องเราก็จะเกิดแรงจูงใจ และอยากจะทำงานให้กับเราอย่างเต็มใจและพอใจ แล้วจะชมอย่างไรดีครับ ก็มีหลักในการให้คำชมพนักงานอยู่ ซึ่งผมเองก็เคยเขียนไว้ในบทความเก่าๆ บ้าง จะลองทบทวนให้อ่านกันดูนะครับ
  • ชมทันทีที่ลูกน้องทำดี คำชมเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ครับ เมื่อไหร่ที่ลูกน้องทำผลงานได้ดี หรือมีพฤติกรรมที่ดีในการทำงานอย่างชัดเจน และเราเห็นว่านี่คือสิ่งที่เราอยากจะรักษาให้พนักงานทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าก็ต้องสร้างแรงจูงใจแก่พนักงาน โดยชมเชยในสิ่งที่เขาทำได้ดีทันทีที่รับทราบเรื่องราวดีๆ นั้น ไม่ควรจะรอให้ครบปีก่อน แล้วค่อยชมตอน review ผลงานประจำปี เพราะคำชมปีละครั้งนั้นผลต่อจิตใจพนักงานจะมีน้อยมาก จนถึงไม่มีเลยครับ จะให้มีผลกระทบแรงๆ จะต้องชมทันที
  • ชมด้วยความจริงใจ หัวหน้าอาจจะมีสไตล์การพูดจาที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะใช้น้ำเสียงดัง บางคนพูดนุ่มนิ่ม ไม่ว่าสไตล์ของท่านเป็นอย่างไร ก็ขอให้ชมอย่างจริงใจครับ ลองนึกถึงเวลาเราชมลูก หรือคนในครอบครัวเราก็ได้ครับ เราจะชมออกไปในแบบที่เราเป็น และชมเพราะเราเห็นว่าเขาทำได้ดีจริงๆ ไม่ใช่ชมเพราะต้องชมนะครับ แบบนี้ก็ถือว่าไม่จริงใจเลย
  • อย่าหวงคำชมมากนัก เมื่อไหร่ที่เราเห็นว่านี่คือสิ่งที่พนักงานทำได้ดี และเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ เราก็ต้องชมทันทีครับ ไม่ต้องไปหวง หรือกลัวว่าลูกน้องจะเหลิง แล้วจะควบคุมไม่ได้ จริงๆแล้วถ้าเราชมลูกน้องด้วยความจริงใจ และชมทุกครั้งที่พนักงานทำได้ดี พนักงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราบริหารและควบคุมพนักงานได้ง่ายขึ้นครับ
ที่กล่าวมาก็คือหลักการให้คำชมที่ดีครับ จะลองไปใช้ดูก็ได้นะครับ พยายามยึดสัดส่วนที่เขาวิจัยไว้ ก็คือ คำชมต่อคำตำหนิเท่ากับ 5:1 ครับ

อย่างไรก็ดีชมบ่อยเกินไป เช่น เอะอะก็ชม เยี่ยมมาก หรือยอดมาก หรือสุดยอด โดยที่ไม่ได้เห็นผลงานอะไรที่ชัดเจน แบบนี้ก็คือว่าชมพร่ำเพื่อจนเกินไปครับ และถ้าเป็นแบบนี้พนักงานก็จะรู้สึกได้เองเลยว่า ที่หัวหน้าพูดนั้นไม่ได้ชมอะไรเรามากมาย เป็นแค่เพียงคำพูดติดปากมากกว่า  

คำชมจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากเหมือนกันนะครับ วันนี้คุณชมลูกน้องบ้างแล้วหรือยังครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น