หัวหน้างานโดยทั่วไปจะมีวิธีการจัดการและมีทัศนคติต่อปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 แนวทางดังนี้
- มองว่าใครเป็นตัวปัญหา เวลาที่หัวหน้าลักษณะนี้พบกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน สิ่งแรกที่จะทำก็คือ พยายามค้นหาว่าใครกันที่เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เมื่อพบตัวการแล้ว ก็จะจัดการอย่างสาสม ก็คือ ดุด่า ตำหนิ จนลูกน้องบางครั้งรู้สึกเลยว่า “นี่เราทำผิดมากขนาดนี้เลยหรือ” ลูกน้องส่วนใหญ่ที่โดนแบบนี้มักจะทนอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะรู้สึกว่าหัวหน้าไม่มีเหตุผล ด่ากราดอย่างเดียว แต่ไม่มีวิธีการในการแก้ไขปัญอะไรเลย แค่ขอให้เจอว่าใครคือตัวการของปัญหาแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นหัวหน้าบางคนยังเองลูกน้องตัวเองไปประจานต่อหน้าคนอื่นในบริษัทอีก ว่านี่คือตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา จากนั้นก็ไม่มีการคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ปล่อยให้คนที่สร้างปัญหาเป็นคนแก้ไขเอง
- มองว่าอะไรคือปัญหา หัวหน้างานลักษณะนี้เวลาที่เจอกับปัญหาที่เกิดขึ้น จะไม่มีการมองหาว่าใครที่เป็นต้นตอของปัญหาแต่จะมองว่า อะไรคือปัญหา และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร และยิ่งไปกว่านั้นจะคิดต่อไปอีกว่าจะป้องกันปัญหานั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร โดยที่ไม่มานั่งจับผิด หรือสืบสวนสอบสวนว่าใครกันที่ทำผิด
ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องตอบว่าอยากทำงานกับหัวหน้าในแบบที่สอง ก็คือ คนที่มองว่าปัญหาคืออะไร ไม่ใช่มองแค่ว่าใครคือตัวปัญหา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่หัวหน้านะครับ บางองค์กรนั้นเราสามารถเห็นเป็นวัฒนธรรมขององค์กรกันเลยทีเดียวครับ กล่าวคือ พนักงานทุกคนทุกระดับมองหาคนผิด มากกว่าที่จะมองหาว่าอะไรที่ผิด และช่วยกันแก้ไข ผลก็คือ เวลาที่พนักงานทำงานแล้วเกิดปัญหาขึ้นเมื่อเจอกับหัวหน้างานแบบแรก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คราวหน้าเวลาที่เจอปัญหาอีก ก็จะเก็บเงียบ และจะไม่บอกใคร ยิ่งไปกว่านั้นจะพยายามผลักปัญหานั้นออกไปจากความรับผิดชอบของตนเอง จนสุดท้ายปัญหาก็ลุกลามใหญ่โต กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไขได้อีก
และถ้าวัฒนธรรมขององค์กรเป็นไปในลักษณะนี้ด้วยแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในองค์กรแบบนี้ก็คือ จะเป็นองค์กรที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ เป็นองค์กรที่มีแต่ความอึมครึม จ้องจับผิดซึ่งกันและกัน ไม่มีใครกล้าคิดกล้าทำอะไร เพราะกลัวทำผิดแล้วจะโดนประจาน สุดท้ายก็ไปตกที่ผลงานขององค์กร ก็ค่อยๆ ถอยหลังไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็อยู่กันไม่ได้
ดังนั้นการที่เราจะเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น การมองปัญหาควรจะมองไปที่อะไรคือสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่มองหาว่าใครเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา บริษัท Toyota เป็นตัวอย่างที่ดีบริษัทหนึ่ง (จากหนังสือ Toyota Way) ซึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ใครที่ค้นปัญหาได้ก่อนจะถือว่าเป็นพนักงานที่มีผลงานที่ดี เพราะเมื่อไหร่ที่เจอปัญหาเขาจะเอามาแชร์กัน และช่วยกันคิดหาทางแก้ไข โดยไม่มานั่งประจานพนักงานที่ก่อให้เกิดปัญหา และยิ่งถ้าพนักงานคนไหนสามารถหาปัญหาเจอ หรือทำงานแล้วเจอกับปัญหามากเท่าไหร่ เขามองว่าจะยิ่งทำให้การทำงานของเขามีแต่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าที่เจอปัญหาแล้วซุกไว้ก่อน ไม่ต้องบอกใครเพราะกลัวความผิด
บริษัทท่านเป็นอย่างไรครับ มองหาสาเหตุของปัญหา หรือแค่เพียงมองหาว่าใครคือตัวปัญหา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น