วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร จะเชื่อมได้อย่างไร

 
ได้เคยพูดถึงเรื่องราวของ Generation ต่างๆ ในบทความเก่าๆ ไปบ้าง รวมทั้งได้เคยคุยกันในเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยต่างๆ ในองค์กร ซึ่งมักจะเป็นปัญหาความขัดแย้งกันในการทำงาน เนื่องจากแต่ละ Gen ก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะอยู่ที่พนักงานแต่ละรุ่นในองค์กรมักจะไม่ค่อยฟังกันสักเท่าไหร่ ก็เลยเกิดปัญหาความขัดแย้งกันในการทำงาน รวมทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างวัยด้วย
ผู้บริหารที่อายุเยอะๆ อยู่ใน generation ที่เรียกกว่า Baby Boomer ก็มักจะมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เนื่องจากความสำเร็จของงานที่ตนเองทำมา และสร้างมากับมือ ก็เลยมักจะไม่ค่อยใส่ใจความคิดของเด็กรุ่น Gen Y มากนัก และมักจะมองว่าพนักงานกลุ่มนี้ยังเด็กมาก ยังไม่รู้เรื่องอะไร เวลาทำงานก็น่าจะทำตามที่ผู้ใหญ่ที่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อน

แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เรียกว่า Gen Y นั้น ก็มักจะมีความเชื่อมั่นในตนเองอีกแบบหนึ่ง บางครั้งแสดงออกโดยไม่ค่อยแคร์สายตาใครๆ และก็มักจะมองว่า ผู้บริหารระดับสูงๆ นั้น ทำอะไรก็เชยๆ โบราณ คิดอะไรก็ไม่ทันสมัยเอาซะเลย รวมทั้งมักจะเป็นคนที่ดื้อมาก ไม่ค่อยฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ ช่องว่างระหว่างรุ่น หรือระหว่างวัยแบบนี้เราจะแก้ไขกันอย่างไรดี ก็เลยมีแนวทางมานำเสนอกันครับ
  • ให้รู้ตัวเองว่าตนอยู่ในวัยใด รวมทั้งศึกษาเพื่อนร่วมงานที่อยู่ต่างวัยด้วยว่า เขาคิดอย่างไร และเชื่ออย่างไรบ้าง รวมทั้งทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังลึกๆ ว่าทำไมคนแต่ละรุ่นถึงคิดแตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะได้เข้าใจที่มาที่ไป และคุยกันรู้เรื่อง มากกว่าที่จะคิดตามแนวของตนเองและไม่ยอมฟังคนอื่นเลย ถ้าเรามีสติพอและรับรู้ว่าเรากับเพื่อนต่างวัยนั้น มีพื้นฐานแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน ก็น่าจะเกิดความเข้าใจกันได้มากขึ้น และสามารถลดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงลงไปได้บ้าง
  • เปิดใจกว้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้ารักที่จะทำงานด้วยกันให้ได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าตนจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ทุกคนจะต้องยึดคตินี้ไว้ในใจเสมอ ก็คือ เปิดใจให้กว้างเข้าไว้ กล่าวคือ เมื่อเข้าใจแล้วว่าคนแต่ละวัยนั้นมีความแตกต่างกัน สิ่งถัดไปที่ต้องทำก็คือ เปิดใจให้กว้าง เพื่อที่จะรับฟัง และเข้าใจพฤติกรรมที่แต่ละวัยแสดงออกมา ยอมรับซึ่งกันและกันว่าเราต่างกัน แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าแต่ละวัยนั้นต้องการอะไร คิดอย่างไร
  • มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเดียวกันในการทำงาน เมื่อเราเข้าใจกันแล้ว สิ่งที่มีร่วมกันก็คือ เป้าหมายในการทำงานนั่นเองครับ จะต้องทำความเข้าใจเป้าหมายของงานที่อยากให้บรรลุ ว่าผลลัพธ์ของงานที่ต้องการนั้นเป็นอย่างไร มีภาพความสำเร็จอย่างไร ดังนั้นเมื่อเราเปิดใจกว้าง และมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายผลสำเร็จของงานแล้ว ไม่ว่าใครจะทำงานอย่างไง จะมาช้า กลับก่อน จะทำงานที่บ้านหรือที่บริษัท ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะเราเปิดใจ และทำงานโดยเน้นไปที่เป้าหมายและผลสำเร็จเป็นสำคัญ
  • เชื่อมั่นในความแตกต่าง อีกเรื่องที่จะช่วยทำให้คนแต่ละวัยสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นก็คือ ทุกคนจะต้องมีความเชื่อมั่นและมีทัศนคติที่ดีต่อความแตกต่างที่เกิดขึ้น เชื่อว่าที่คิดต่างกัน มองต่างกันนั้น เป็นสิ่งที่ดี และถ้าเราสามารถร่วมกันหาจุดตรงกลางได้ ก็จะยิ่งทำให้ความสำเร็จของงานมีมากขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องทำงานกับคนที่อยู่ต่างวัยกันแล้ว เรื่องความเชื่อในเรื่องของความแตกต่างจะต้องยึดไว้ในจิตใจของเราทุกคนเลยครับ ห้ามเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดหรือทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่มีใครดีกว่านี้แล้ว เพราะถ้าเมื่อไหร่เชื่อแบบนี้ ไม่ต้องทำงานกับคนต่างวัยหรอกคับ แม้ทำงานกับวัยเดียวกันก็มีปัญหาเช่นกัน
  • พยายามมองหาสิ่งที่สนใจเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานอดิเรกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์ หนังสือ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ต่างก็ให้ความสนใจร่วมกัน เช่นไปปลูกป่า การไปทำบุญ เลี้ยงเด็ก ฯลฯ ผมเคยเห็นเพื่อนร่วมงานต่างวัยที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ โดยอาศัยกีฬาที่ชอบเหมือนกัน เช่นไปตีกอล์ฟ ออกรอบด้วยกัน หรือใช้บางคนก็เล่นดนตรี และชื่นชอบการฟังเพลงเหมือนกัน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น เมื่อความสัมพันธ์เริ่มดี การทำงานก็จะเริ่มดีขึ้นตามมาเช่นกันครับ
การที่องค์กรเรามีคนหลายๆ วัย หรือหลาย Generation นั้น ไม่ใช่ปัญหาเลยครับ ถ้าทุกคนในองค์กรรักที่จะทำงานร่วมกัน และเปิดใจ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งต่างก็ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันถึงความคิดความอ่าน และข้อจำกัดต่างๆ ของคนแต่ละวัย ก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกัน และทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

บางองค์กรที่ผมเคยเข้าไปให้คำปรึกษานั้น ผมเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ทีมผู้บริหารระดับสูงประกอบไปด้วยคนหลายวัยมาก มีทั้งแบบเกษียณอายุกันไปแล้ว กำลังจะเกษียณ วัยสี่สิบต้นๆ และเด็กสุดก็คือประมาณ สามสิบต้นๆ เวลาที่เขาประชุมกันนั้น ต่างก็แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่กลับไม่มีการทะเลาะกัน อาจจะมีบ้างที่เห็นแย้งกัน แต่สุดท้ายผมก็เห็นแววตาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมก็ถามไปว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ท่านผู้บริหารก็บอกถึงสาเหตุทั้งหมดก็คือ สิ่งที่ผมเขียนไปข้างต้น และย้ำให้ผมฟังอีกครั้งว่า  

“เรามีเป้าหมายเดียวกันครับ ก็คือ ต้องการขับเคลื่อนองค์กรนี้ไปสู่ความสำเร็จเหมือนกัน ทุกคนยึดภาพเป้าหมายเดียวกัน รวมทั้งเปิดใจ และเข้าใจกัน ก็เลยทำงานด้วยกันได้อย่างมีความสุขครับ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น