วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ถ้าผู้นำองค์กรของท่านเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไรดี (ภาคต่อ)

 

บทความวันนี้เป็นเรื่องราวในภาคต่อของบทความที่ผมเขียนลงไว้ในวันอังคารที่ผ่านมาที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ถ้าผู้นำองค์กรของท่านทำแบบนี้ ท่านจะรู้สึกอย่างไร” (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็ตามลิงค์นี้เลยครับ http://wp.me/pBmlU-VM) เนื่องจากบทความนี้เอง ผมได้รับคำถามตามมาจากท่านผู้อ่านหลายท่านเลยครับ ที่บ่นมาว่า เจอแบบนี้ในการทำงานบ้าง กำลังคิดว่าจะเจอบ้าง บางคนก็บ่นมาให้ฟังว่า เจอแบบนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำใจ ที่หนักหน่อยก็ถามมาว่า กำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากเป็นคนที่มีหลักการมีจุดยืน แต่นายไม่เห็น เปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ลอยไปมาตามนายดีมั้ย เพื่อให้นายเห็น แล้วเราจะได้เติบโตในองค์กรแบบกลวงๆ แบบไหนดีกว่ากัน
คำถามที่ผมได้รับมาก็สามารถสรุปประเด็นได้ว่า ถ้าเจอแบบนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรในฐานะพนักงานคนหนึ่งในองค์กร ผมก็เลยรวบรวมเอาคำตอบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทางปฏิบัติมาเล่าให้อ่านกันนะครับ เผื่อใครจะลองเลือกใช้ดูให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคนไปครับ
  • ทำใจ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำ กล่าวคือ เมื่อเจอผู้นำที่ทำตัวไม่ดี แล้วเราไม่สามารถจะไปทำอะไรเขาได้เนื่องจากเรายังเป็นผู้น้อย ซึ่งขืนไปทำอะไรเข้า เดี๋ยวจะไม่ได้อยู่ทำงานต่อไป วิธีนี้ก็เลยเป็นวิธีที่พนักงานส่วนหนึ่งเลือกใช้ครับ ก็คือ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วก็ทำงานของตัวเองไปเรื่อยๆ ใครจะเป็นอะไร หรือจะทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่วิธีนี้จะยิ่งทำให้ผู้นำแย่ๆ ของเราได้ใจมากขึ้น และจะยิ่งทำในสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้นไปอีก
  • ออกจากผู้นำคนนี้ซะ วิธีที่สองที่พนักงานอีกบางส่วนทำ ซึ่งมักจะเป็นพนักงานที่พอจะมีที่ไปได้บ้างทำกัน ก็คือ เมื่อเห็นว่าผู้นำคนนี้เป็นคนที่เราพึ่งไม่ได้จริงๆ แล้ว และยังทำตัวแย่ๆ อีก สิ่งที่พนักงานกลุ่มนี้ทำก็คือ ลาออก และไปอยู่กับองค์กรใหม่ที่ดีกว่านี้ วิธีนี้เป็นวิธีที่คนรุ่นใหม่มักจะใช้กันนะครับ ก็คือ เริ่มไม่เชื่อถือผู้นำคนนี้แล้ว และเราเองก็ไม่สามารถไปทำอะไรให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ ก็เปลี่ยนที่ตัวเราเองดีกว่า สุดท้ายก็คือ เปลี่ยนงานและหาองค์กรใหม่ทำงาน ถ้าคนในองค์กรส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีนี้ ก็จะทำให้ผู้นำคนนั้นเริ่มรู้ระแคะระคายบ้างว่า มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่พนักงานออกกันไปเยอะๆ นั้นมาจากตัวเขาเองนั่นแหละ อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับผู้นำได้ ว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้วนะ
  • ใช้วิธีป่วน พนักงานบางคนก็ใช้วิธีการปั่นป่วน เพื่อให้เกิดข่าวลือบ้าง หรือส่งเป็นบัตรสนเท่ห์บ้าง เพื่อที่จะก่อความวุ่นวาย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแก้แค้นที่ผู้นำทำตัวแย่ๆ แต่วิธีนี้มีแต่เสียกับเสียครับ การที่พนักงานทำแบบนี้แสดงว่าเขาเองก็ทนไม่ได้กับพฤติกรรมบางอย่างของผู้นำคนนี้ แต่เขากลับไม่กล้าบอกตรงๆ ใช้วิธีอ้อมๆ วิธีนี้องค์กรก็จะแย่ไปด้วย เพราะจะเกิดข่าวลือมากมาย ทั้งจริงและไม่จริง ฝ่ายบุคคลก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะจะได้รับคำสั่งอันเฉียบขาดจากผู้นำท่านนี้ว่าให้หยุดข่าวลือให้ได้ และหาตัวการมาลงโทษ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่เคยหาเจอหรอกครับแบบนี้ ผลงานองค์กรก็จะแย่ลงไปอีก
  • ใช้วิธีสำรวจความพึงพอใจพนักงาน วิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นทางการหน่อย ก็คือ อาจจะต้องหาเจ้าภาพในการดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่มีพนักงานลาออกจากบริษัทมาไปหน่อย และเกิดภาวะข่าวลือมากมาย อีกทั้งพนักงานบางส่วนก็รู้สึกไม่พึงพอใจอย่างมาก ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นฝ่ายบุคคลที่จะดำเนินการเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ก็อาจจะมีการจ้างที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน บางแห่งอาจจะลงลึกไปถึงเรื่องของ engagement กันเลยก็มี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลสะท้อนจากพนักงานของบริษัทว่าเขามีความเห็นต่อเรื่องต่างๆ ในบริษัทอย่างไรบ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่จะต้องปรับปรุง เพื่อที่จะได้มีคะแนนความพึงพอใจ หรือคะแนนความผูกพันที่สูงขึ้นได้ วิธีนี้ผมเคยเห็นหลายองค์กรทำนะครับ ผลที่ได้ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจมาก ก็คือ พนักงานบอกกับที่ปรึกษาตรงไปตรงมาเลยว่าปัญหาของที่นี่คืออะไร โดยเฉพาะเรื่องของผู้นำ และอยากให้ผู้นำเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น บางองค์กรผู้นำได้เห็นผลเท่านั้นล่ะครับ เต้นเป็นเจ้าเข้าเลยครับ แถมยังพยายามสอบถามจากที่ปรึกษาด้วยนะครับว่า ใครที่บอกแบบนั้น ซึ่งที่ปรึกษาเองก็บอกไม่ได้อยู่แล้ว ประเด็นก็คือ ทำไมเขาไม่เอาเวลาที่มาสืบว่าใครที่พูดแบบนั้น มาพัฒนาตนเอง จะดีกว่าหรือเปล่า แต่ก็มีผู้นำในอีกหลายองค์กรที่พอได้รับ Feedback มาแล้ว ก็พยายามที่จะนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงตนเอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นผู้นำที่พนักงานหันกลับมาให้ความเชื่อถืออีกครั้งครับ
สิ่งที่ผมเขียนเล่ามาข้างต้นนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ การทำให้ผู้นำคนนั้นรู้ตัวว่า มีบางอย่างที่เขาทำไม่ถูกต้อง และส่งผลต่อแรงจูงใจ และความพึงพอใจของพนักงาน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อความผูกพันของพนักงานอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยออกมามากมายว่า ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ไม่มีความผูกพันต่อองค์กรแล้ว ผลผลิตขององค์กรก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าอยากจะให้องค์กรดีขึ้น และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุดก็คือ ต้องไปแก้ไขที่ตัวผู้นำเอง

เมื่อผู้นำรู้ตัวแล้วว่าเกิดกรณีปัญหาเหล่านี้ขึ้น สิ่งต่อไปก็คงต้องขึ้นอยู่กับตัวท่านเหล่านี้แล้วล่ะครับ ว่าท่านเหล่านี้จะยอมเปิดใจรับฟังเหตุผลต่างๆ มากสักแค่ไหน จากนั้นก็คือ ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สักขนาดไหน เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากครับ แต่คนที่ทำได้นี่แหละครับ คือผู้นำตัวจริงเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น