คนที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการ ที่มีลูกน้องต้องบริหารจัดการนั้น ย่อมจะรู้สึกว่า การบริหารคนที่เป็นลูกน้องเรานั้นมันช่างยากเย็นอะไรเช่นนี้ ลูกน้องแต่ละคนไม่มีความเหมือนกันเลย ต่างจิตต่างใจ ต่างความคิด ต่างความเห็น ซึ่งทำให้หัวหน้าต้องหาวิธีเฉพาะบุคคลเพื่อที่จะซื้อใจลูกน้องให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานสร้างผลงานให้ได้อย่างที่เราต้องการ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ได้ทั้งงาน และได้ทั้งใจพนักงานนั่นเอง
วันนี้มีเคล็ดลับง่ายๆ มาฝากครับ สำหรับท่านที่ต้องการได้ใจลูกน้อง เพื่อที่จะทำให้ลูกน้องสร้างผลงานให้เราได้อย่างที่เราต้องการ และเคล็ดลับนี้ก็สามารถใช้ได้กับพนักงานทุกคน เพราะสิ่งที่กำลังจะเล่าให้อ่านนั้น เป็นแนวทางที่ใช้กับความต้องการลึกๆ ของคนเราทุกคนอยู่แล้ว ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
- จงฟังให้มากกว่าพูด โดยทั่วไปคนเรามักจะชอบพูดมากกว่าฟัง ยิ่งเฉพาะกับลูกน้อง เรายิ่งอยากจะพูด และอยากจะบอกว่า เราเองเก่งสักแค่ไหน ให้เอาเราเป็นตัวอย่างสิ เวลาที่ลูกน้องพูดอะไรมา เราก็มักจะพยายามยกตัวเราเอง พูดถึงตัวเราเอง ให้ลูกน้องฟังตลอด โดยไม่ได้ใส่ใจ หรือสนใจฟังในสิ่งที่ลูกน้องพูดมาเลย ดังนั้นถ้าอยากได้ใจลูกน้อง เคล็ดลับอันแรกสุดก็คือ การพูดถึงตัวเองให้น้อยลง และจงฟังในสิ่งที่ลูกน้องพูดให้มากขึ้น และเมื่อฟัง ก็ต้องฟังอย่างเข้าใจด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่ได้ยินเท่านั้น ต้องเข้าใจเลยว่าทำไมลูกน้องเราถึงพูดแบบนั้น โดยปกติเมื่อคนเรารู้สึกว่ากำลังมีคนอีกคนที่รับฟังเราอย่างเข้าใจ ความรู้สึกที่ดีก็จะเกิดขึ้นในใจแล้ว ลูกน้องเราเองก็เช่นกันครับ
- จงให้คำชมกับความพยายามของลูกน้อง เคล็ด ลับที่สองก็คือ เมื่อลูกน้องทำดี หรือมีความพยายามทำในสิ่งที่ดี ที่ถูก เราในฐานะหัวหน้าก็ต้องให้ความสำคัญกับเขาด้วย โดยการให้การชื่นชมอย่างจริงใจ จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนเราทุกคนอยากได้อยู่แล้ว หรือใครจะเถียงว่าไม่ชอบคำชมจากคนอื่น ผมคิดว่าถ้าเป็นคนปกติทั่วไป ย่อมต้องการคำชื่นชมจากคนอื่นๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะกับหัวหน้าของตนเอง พนักงานยิ่งอยากได้คำชมจากหัวหน้าตนเอง เพราะมันทำให้พนักงานรู้สึกว่า หัวหน้ากำลังให้การยอมรับในฝีมือการทำงานของเขาอยู่ แต่ก็แปลกนะครับ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่า คนเราต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่คนที่เป็นหัวหน้ากับทำตัวตรงกันข้าม ก็คือ ไม่เคยชมเชยในสิ่งที่ลูกน้องทำดีเลย บางคนก็ชมอย่างเสียมิได้ โดยอ้างเหตุผลว่า ชมมากเดี๋ยวพนักงานจะเหลิง ผมคิดว่าเหตุผลนี้มันเชยมากแล้วล่ะครับ จงพิจารณาถึงธรรมชาติของคนดีๆ ถ้าเรารู้ว่าคนเราต้องการคำชม แล้วเราก็ให้ในสิ่งที่คนเราต้องการกับพนักงานของเรา สิ่งที่เราจะได้รับก็มีแต่ผลดีทั้งสิ้น พนักงานได้รับคำชมที่จริงใจจากเราไปแล้ว ส่วนมากจะพยายามรักษาระดับผลงานที่ดีไว้ให้เราเห็นเสมอ ยิ่งถ้าเราเข้าถูกทาง เขาจะยิ่งทำผลงานให้ดีขึ้นไปกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
- จงแสดงความสนใจและใส่ใจในตัวลูกน้อง เคล็ด ลับที่สามก็คือ จงอย่าสนใจตัวเองมากเกินไป อย่าเล่าแต่เรื่องราวของตนเองให้กับคนอื่นฟัง เพราะต้องการจะบอกว่าตนเองนั้นดีกว่าคนอื่น และเก่งกว่าคนอื่น จริงๆ แล้วนี่คือธรรมชาติของคนเรา ซึ่งธรรมชาติตัวนี้ทำให้คนอื่นรู้สึกหมั่นไส้ได้ ถ้าเราพูดเยอะเกินไป ชมตัวเองมากเกินไป ไม่มีใครชอบหรอกครับ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่คนเราชอบก็คือชอบให้คนอื่นให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่า ดังนั้น ถ้าเราอยากจะได้ใจลูกน้อง สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การใส่ใจ และสนใจลูกน้องของตนเองให้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงาน เรื่องส่วนตัว ครอบครัว สารทุกข์สุขดิบ ต่างๆ หัวหน้าควรจะให้ความสนใจให้มากขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ลูกน้องเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอะอะ ก็เอาเราเป็นศูนย์กลาง ทำแบบนี้มากๆ เข้า ลูกน้องก็จะคิดในใจว่า “ถ้าเก่งนัก ก็ทำเองสิ”
- จงขอความช่วยเหลือจากลูกน้อง จริงๆ แล้วหัวหน้าจะต้องมอบหมายงานให้กับลูกน้อง ซึ่งถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่มีศิลปะในการมอบหมายงานให้ดีแล้ว มันก็เหมือนเป็นการสั่งการจากหัวหน้าลงไปสู่ลูกน้อง ซึ่งทำให้ลูกน้องไม่ได้รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตนเองสักเท่าไหร่ แต่ถ้าหัวหน้าเปลี่ยนแปลงวิธีการสั่งงาน โดยสั่งตรงๆ ไปเรื่อย มาเป็น การขอความช่วยเหลือจากลูกน้อง ด้วยวิธีนี้จะทำให้ลูกน้องรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตนเองมากกว่า เช่นแทนที่จะสั่ง สั่ง สั่ง และสั่ง ก็เปลี่ยนเป็นบอกลูกน้องว่า “จากงานที่แล้วผมเห็นคุณบริหารงานโครงการได้ดีมากเลย ตอนนี้ผมมีอีกโครงการหนึ่งที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากคุณ เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี......” ถ้ามองให้ลึกจริงๆ แล้วก็คือการมอบหมายงานนั่นแหละครับ เพียงแต่เราอาศัยหลักทางจิตวิทยาเล็กน้อย โดยทำความเข้าใจความรู้สึกของคนเราว่าต้องการเป็นคนสำคัญ มาใช้ในการมอบหมายงาน โดยเปลี่ยนจากการสั่ง เป็นการขอความช่วยเหลือแทน
ดังนั้นถ้า อยากจะได้ใจลูกน้อง ลองเอาไปใช้ดูก็ได้ครับ อาจจะเริ่มต้นจากลูกน้องที่เราสนิทก่อนก็ได้ แล้วค่อยๆ เอาไปใช้กับลูกน้องที่สนิทน้อยหน่อย จนกระทั่งครบทุกคน แล้วลองสังเกตผลที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่า ท่านจะได้ใจลูกน้องทุกคนอย่างแน่นอนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น