ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานนั้น สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือ ความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้าง หลายๆ บริษัทที่มีการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ต่างก็พยายามที่จะสร้างความเป็นธรรมในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าองค์กรมีความเป็นธรรมในการ บริหารค่าจ้างเงินเดือน
แต่ในทางปฏิบัติ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม บางบริษัทกลับทำให้เกิดปัญหาเรื่องของความเป็นธรรมโดยที่ไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นธรรมแล้ว ผมเองก็ได้เจอกับกรณีแบบนี้ในบริษัทต่างๆ ที่ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปวางระบบบริหารค่าตอบแทนให้ ก็เลยเอามาเล่าให้อ่านกันครับ
- จ่ายเงินเดือนแตกต่างกัน ตามสถาบันการศึกษาที่จบมา ลักษณะ แรกที่พบก็คือ บริษัทมีการกำหนดอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ โดยกำหนดให้มีอัตราที่แตกต่างกันตามสถาบันการศึกษาที่จบมา แม้ว่าจะรับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกันก็ตาม เช่น ถ้าจบสถาบันชั้นนำ ในระดับปริญญาตรี เริ่มจ้างที่ 20,000 บาท แต่ถ้าจบจากสถาบันไม่ใช่ชั้นนำ ก็จ่ายให้ 15,000 บาท โดยที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน เป็นต้น ลักษณะนี้ คิดว่าเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่ครับ
- จ่ายเงินเดือนเพิ่มให้กรณีพนักงานได้เกียรตินิยม บางบริษัท ถ้าพนักงานคนใดจบเกียรตินิยมมา ก็จะได้รับค่าเกียรตินิยมเพิ่มให้ประมาณ 2,000 บาท ส่วนพนักงานคนอื่นที่ไม่ได้ ก็จะได้เงินเดือนตามปกติ ก็เลยทำให้พนักงานที่ได้เกียรตินิยมจะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า พนักงานปกติอยู่ แม้ว่าจะทำงานในตำแหน่งเดียวกัน และเริ่มงานในวันเดียวกันก็ตาม ลักษณะนี้เป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่
- ปรับอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ แต่ไม่ได้ปรับให้พนักงานเก่า กรณีนี้ก็เกิดขึ้นเยอะครับ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ ช่วงที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาเป็นอัตราใหม่ของบริษัท พอประกาศอัตราใหม่ ใครที่มาสมัครงานช่วงหลังประกาศอัตราใหม่ ก็จะได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่ทันที โดยที่พนักงานเก่าที่รับเข้ามาก่อนหน้านี้ ไม่มีการปรับใดๆ ผลก็คือ พนักงานเก่าที่ทำงานกับบริษัทมาสักพัก กลับได้รับเงินเดือนที่น้อยกว่าพนักงานใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน และยังไม่เห็นผลงานอะไร แบบนี้เป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่
- ให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ มากกกว่าพนักงานเก่า บางบริษัทบริหารค่าจ้างเงินเดือนโดยให้เงินเดือนพนักงานใหม่ตามที่เขาขอมา เพราะอยากได้เข้ามาทำงาน โดยที่ไม่สนใจว่า พนักงานเก่าที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน อายุงานใกล้เคียงกัน จะได้เงินเดือนอยู่เท่าไหร่ บางบริษัท พนักงานใหม่ที่มาสมัครงานขอมามากแค่ไหนก็สู้ แต่พนักงานเก่าของบริษัทกลับขึ้นเงินเดือนให้ทีละนิดหน่อย กลายเป็นว่า คนเก่าที่ทำงานอยู่แล้ว ก็ได้แบบนิดๆ แต่กับคนใหม่ที่ไม่เคยรู้ผลงานมาก่อน กลับให้เงินเดือนสูงปรี๊ด แล้วแบบนี้ เป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่
- ขึ้นเงินเดือนพอๆ กัน ไม่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร บาง องค์กรที่ถึงเวลาขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน ก็ให้เงินเดือนขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันมาก ไม่ว่าพนักงานจะทำผลงานได้ดีเลิศ หรือย่ำแย่ปานใด ต่างก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เหตุผลของผู้บริหารก็คือ จะได้เกิดความเป็นธรรม และไม่ทำลายการทำงานเป็นทีมที่ดี ส่วนพนักงานกลับมองว่า อุตส่าห์ตั้งใจทำงานแทบตาย ผลงานที่ได้ก็ทำให้องค์กรดีขึ้นตั้งมากมาย แต่กลับได้รับเงินเดือนขึ้นพอๆ กับคนที่ไม่ทำงานอะไรเลย แบบนี้จะทำดีไปทำไม แล้วแบบไหนล่ะครับ ที่เรียกกว่าเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน
- ขึ้นเงินเดือนตามอายุงาน กรณี เกิดขึ้นกับองค์กรที่ยังไม่มีระบบการประเมินผลงานที่ดี หัวหน้า และผู้จัดการประเมินผลงานพนักงานตนเองไม่ออก ก็เลยให้คะแนนผลงานแบบพอๆ กัน เท่าๆ กันไป สุดท้ายนายใหญ่ก็ต้องเอามาแก้ไขปรับปรุง แต่ไม่รู้จะใช้เหตุผลอะไร ก็เลยเอาเรื่องของใครที่ทำงานด้วยแล้วรู้สึกดี ก็ให้เยอะหน่อย ใครที่ทำงานกับบริษัทมานาน ก็ให้เยอะหน่อย ด้วยเหตุผลที่ว่าซื่อสัตย์และไม่จากบริษัทไปไหน ส่วนคนอื่นที่ไม่ค่อยรู้จัก และรู้สึกไม่ค่อยชอบหน้า ก็ให้พอๆ กันไป แบบนี้เรียกว่าความเป็นธรรมหรือไม่ครับ
ยิ่งในปัจจุบัน เรื่องของค่าจ้างค่าตอบแทนนั้นทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือน ดังนั้นบริษัทควรจะสร้างระบบค่าจ้างค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน และสร้างผลงานให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น