ปกติแล้วระบบ Incentive หรือระบบค่าจ้างจูงใจเพื่อกระตุ้นผลงานนั้น เรามักจะใช้เพื่อที่จะกระตุ้นพนักงานให้สร้างผลงานให้มากขึ้นกว่าเป้าหมาย ที่กำหนด ก็คือ มีไว้เพื่อที่จะจูงใจให้พนักงานฮึดต่ออีกหน่อย เพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น มากขึ้นว่าปกติ
โดยทั่วไประบบ Incentive นั้นจะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้พนักงานยอมเหนื่อยขึ้นอีกนิดหน่อยเพื่อสร้าง ผลงาน เพื่อแลกกับอัตราค่าตอบแทนที่จะได้สูงขึ้นเรื่อยๆ เวลาออกแบบ Incentive จึงมีลักษณะคล้ายๆ อัตราก้าวหน้า กล่าวคือ ยิ่งทำผลงานได้มากขึ้นเท่าไหร่ อัตรา Incentive ที่จะได้ ก็จะมากขึ้นด้วย เพื่อที่ยิ่งจูงใจ และกระตุ้นให้พนักงานสร้างผลงานต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่เคยเจอมั้ยครับว่า ระบบ Incentive ที่อุตสาห์ออกแบบไว้นั้น ใช้ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ ทั้งๆ ที่อัตราที่จ่ายก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากทีเดียว แต่ทำยังไงพนักงานก็ไม่รู้สึกถึงพลังของ Incentive ตัวนั้นเลย
จากประสบการณ์ที่เคยออกแบบและศึกษาระบบ Incentive ของบริษัทต่างๆ มา ก็พบว่าสาเหตุที่ระบบ Incentive ใช้ไม่ได้ผลก็มาจาก
- พนักงานขาดทักษะในการทำผลงานนั้นๆ นี่เป็นสาเหตุหลักของการที่ระบบ Incentive ที่ออกแบบมาแล้วใช้ไม่ได้ผล การที่พนักงานความรู้และทักษะในการทำงานด้านนั้นๆ จะทำให้พนักงานคนนั้นคิดว่า Incentive ไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็ตาม ด้วยทักษะและความรู้ที่เรามีนั้นทำยังไงก็ไม่มีทางได้เลย ดังนั้นก็เลยไม่ทำดีกว่า
- พนักงานไม่ต้องการเงิน อีก สาเหตุที่ทำให้ระบบ Incentive ใช้ไม่ได้ผลก็คือ พนักงานที่เราเลือกเข้ามาทำงานนั้น ด้วยความต้องการพื้นฐานส่วนบุคคลแล้ว ไม่ได้มีความต้องการเรื่องเงินเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับเป็นคนที่รักสบาย ทำงานแบบศิลปิน ถ้าเราเลือกพนักงานแบบนี้เข้ามาทำงานที่ต้องถูกกระตุ้นด้วย Incentive รับรองว่า ไม่มีทางที่ระบบนี้จะจูงใจเขาได้เลย เพราะพนักงานกลุ่มนี้มักจะคิดแค่เพียงว่า พอใจทำก็จะทำ ถ้าเมื่อไหร่ ไม่มีอารมณ์ทำงาน หรือไมอยากทำ ก็จะไม่ทำ ใครจะทำไม่
- ใช้ Incentive ไม่ถูกเวลา ระบบ Incentive ที่ดีนั้นจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับ Product Life Cycle ด้วยเช่นกัน ถ้าสินค้าตัวไหนอยู่ในช่วงขาลง และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงนั้นแล้ว ต่อให้ Incentive สูงแค่ไหนก็ตาม พนักงานก็ไม่สามารถที่จะสร้างผลงาน หรือขายสินค้าชิ้นนั้นได้เลย เนื่องจากไม่มีความต้องการของตลาดเลย ดีไม่ดีพนักงานอาจจะมองว่า บริษัทออกแบบระบบมานั้น ไม่ได้อยากให้พนักงานได้รับ Incentive จริงๆ เหมือนกับว่าบริษัทไม่จริงใจกับพนักงานประมาณนั้น นอกจากตัวสินค้าแล้ว ยังต้องพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจภายนอกด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นช่วงขาลง กระตุ้นด้วย Incentive ให้ตายยังไง ก็ยังคงยาก เนื่องจากกำลังซื้อภายนอกนั้นน้อยลงไปเรื่อยๆ
- เป้าหมายที่ตั้งสูงเกินไป อีก สาเหตุก็คือเป้าหมายที่กำหนดเพื่อที่จะได้รับ Incentive นั้นสูงเกินไปกว่าที่จะทำได้ตามเป้า เนื่องจากระบบ Incentive นั้น จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายไว้ ว่าโดยปกติแล้วเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้คือเท่าไหร่ และถ้าทำได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ พนักงานจึงจะมีสิทธิได้รับ Incentive ด้วยสาเหตุนี้เอง ถ้าเป้าหมายเบื้องต้นที่เรากำหนดไว้นั้น สูงเกินกว่าที่พนักงานจะทำได้ ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า เหนื่อยให้ตาย ก็ยังไม่สามารถทำได้เป้าเลย ดังนั้นเรื่องของ Incentive จึงไม่ต้องพูดถึง พนักงานก็จะไม่ได้ถูกจูงใจจากระบบที่วางไว้เช่นกัน
สิ่งที่พบมาหลายที่ก็คือ พนักงานไม่มีทักษะเพียงพอที่จะทำงานนั้นได้ ก็เลยทำให้พนักงานไม่มีโอกาสได้ Incentive นั้นๆ เลย ดังนั้นถ้าองค์กรออกแบบระบบ Incentive ไว้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำประกอบกันไปด้วยก็คือ การพัฒนาพนักงานให้สามารถสร้างผลงานนั้นๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นเราจะต้องมีการลงทุนในการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานด้วย
เนื่องจากระบบ Incentive ถูกออกแบบมาโดยเอากำไรมาแบ่งให้กับพนักงาน ดังนั้นยิ่งพัฒนาให้พนักงานทำผลงานได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็แปลว่าบริษัทก็ยิ่งได้กำไรจากผลงานของพนักงานมากขึ้นเท่านั้น และพนักงานเองก็ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าเหนื่อยเป็นรางวัล
อย่างไรก็ดี ก็คงต้องอย่าลืมเรื่องของการคัดเลือกพนักงานที่มีความเหมาะสมกับระบบ Incentive นี้ด้วยนะครับ อย่าเผลอไปรับศิลปินเดี่ยวเข้ามาทำงานแบบที่มี Incentive นะครับ เพราะองค์กรจะไม่สามารถใช้ระบบ Incentive กระตุ้นจูงใจพนักงานกลุ่มนี้ได้เลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น