วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

สอนงานไม่ยาก ถ้าเข้าใจผู้เรียน


ปัจจุบันนี้เรื่องของการสอนงาน หรือภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า Coach นั้น เริ่มเป็นที่แพร่หลายกันมากขึ้น Coach เกิดขึ้นในทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีอาชีพที่เป็น Coach กันจริงๆ ก็มีเกิดขึ้นมากมาย แต่อย่างไรก็ดี ในองค์กรของเราเอง เราก็ต้องการ Coach เช่นกัน โดยปกติคนที่จะทำหน้าที่เป็น Coach ให้กับพนักงานที่อยู่ในองค์กรนั้นส่วนใหญ่ก็คือ หัวหน้างาน ผู้จัดการ ระดับต่างๆ ในองค์กรนั่นเอง


แต่ในทางปฏิบัติ มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่ผู้จัดการหรือหัวหน้างานจะใช้เวลาในการสอนงานลูก น้อง หรือ Coach ลูกน้องของตนเอง ส่วนใหญ่ก็คือ วางแผน มอบหมายงาน ให้ลูกน้องไปทำ จากนั้นก็ตรวจสอบผลงาน โดยไม่สนใจมากนักว่าลูกน้องแต่ละคนนั้นมีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรกันบ้าง เวลามีปัญหา ก็ช่วยแก้ไขปัญหาให้ โดยที่ไม่ได้ทำการ Coach อะไรเพิ่มเติม สุดท้ายพนักงานเองก็ทำงานผิดพลาดเหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เกือบทุกองค์กรต่างก็พยายามให้หัวหน้างาน และผู้จัดการเป็นผู้สอนงานพนักงาน และพัฒนาพนักงานให้มีความรู้และความสามารถพร้อมที่จะทำงาน ซึ่งผู้จัดการทุกคนก็ต้องพัฒนาทักษะในการสอนงานพนักงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เหล่าบรรดาผู้จัดการต่างก็บ่นคล้ายๆ กันว่า การสอนงานพนักงานนั้นเป็นงานที่ยาก บางครั้งสอนแล้วพนักงานก็ไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ บางครั้งสอนแล้วสอนอีก ก็ไม่เคยจำเลย ผู้จัดการบางคนสอนงานพนักงานด้วยอารมณ์ขุ่นมัวก็มี เพราะสอนแล้วพนักงานไม่เข้าใจ ก็เลยอารมณ์เสียใส่ ฯลฯ

การที่จะสอนงาน ให้ได้ผล คนที่จะสอนงานจะต้องเข้าใจว่า อัตราความเร็วในการเรียนรู้ของคนเราแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน หัวหน้างานบางคนเป็นคนเก่งมาก หัวไว รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว แม่นยำมาก จับประเด็นได้อย่างชัดเจน พอมาเจอกับลูกน้องที่ช้ากว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดที่ช้ากว่า หรือการจับประเด็นที่ช้ากว่า ฯลฯ ก็มักจะไม่ค่อยพอใจ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลาที่จะต้องมานั่งจี้ นั่งสอนที่ละจุด แต่ถ้าเราต้องการจะสอนงานพนักงานหรือ Coach พนักงานแล้วล่ะก็ ตัวหัวหน้างานเองจะต้องสวมวิญญาณนักสอนงานที่ดีอย่างเต็มตัวให้ได้ครับ หลักง่ายของการสอนงานก็มีดังนี้ครับ
  • เข้าใจผู้ที่เราจะสอนงานอย่างแท้จริง เข้า ใจในที่นี้จะต้องเข้าใจจริงๆ นะครับ เข้าใจว่า เขามีปัญหาเรื่องอะไร เข้าใจว่าอัตราความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะของการสอนงาน ก็จะต้องแตกต่างกันออกไปสำหรับผู้เรียนแต่ละคน แม้ว่าจะสอนงานในเรื่องเดียวกันก็ตาม ถ้าผู้เรียนมีความแตกต่างกัน ก็จะต้องออกแบบวิธีการสอนงานที่แตกต่างกันออกไปด้วย บางคนอาจจะต้องใช้วิธีสอนทีละขั้นตอน และค่อยๆ อธิบายประกอบกับตัวอย่าง บางคนเราอาจจะพูดเร็วๆ ได้ เพราะเขาสามารถเข้าในเรื่องราวได้ดี
  • ฟังให้มาก และฟังให้เข้าใจก่อนที่จะพูด การ เป็น Coach ที่ดีนั้นจะต้องฟังผู้เรียนให้เยอะๆ ฟังแล้วต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดมาด้วย เพราะผู้เรียนบางคนไม่กล้าที่จะบอกถึงข้อบกพร่องของตนเองให้กับ Coach มากนัก อาจจะเป็นเพราะอาย หรือกลัวเสียหน้า ดังนั้น Coach ที่ดีจะต้องพยายามฟัง และจับประเด็นของผู้เรียนให้ได้ ที่สำคัญมากๆ ก็คือ ฟังแล้วอย่าคิดไปเองเด็ดขาด Coach หลายคนตกม้าตายก็เพราะฟังแล้วด่วนสรุป และคิดไปเองว่า คนนี้จะต้องมีจุดบกพร่องเรื่องนี้แน่นอน แต่พอเริ่มสอนกันก็มารู้ภายหลังว่าไม่ใช่เรื่องนี้เลยก็มี ทำให้เสียเวลาในการสอนงานไปโดยไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ดังนั้นฟังให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มต้นสอนงานจะดีกว่าครับ
  • ให้กำลังใจผู้เรียน ลองนึกถึง Coach นักกีฬาก็ได้ครับ ลองดูว่ามีคนไหนบ้างที่พยายามจะให้นักกีฬาของตนแพ้ แม้ว่านักกีฬาของตนจะเป็นผู้ตามอยู่ หรือรู้ดีว่าแพ้แน่ๆ Coach จะพูดมั้ยครับว่า “ยอมแพ้เถอะ สู้ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว วันนี้เล่นได้ห่วยมาก” ผม ว่าถ้ามี Coach คนไหนพูดแบบนี้ รับรองว่าโดนไล่ออกแน่นอนครับ ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ให้กำลังใจนักกีฬาของตนเองให้สู้ๆ และสอนให้มองโลกในแง่ดี ให้มองโอกาสที่ยังมีอยู่มากกว่า Coach ในการทำงานก็เช่นกันครับ การที่เราสอนพนักงานในเรื่องใดๆ ก็ตามสิ่งที่ผู้สอนจะต้องมีอยู่ตลอดก็คือ กำลังใจให้กับผู้เรียนครับ ไม่ว่าเขาจะเรียนรู้เร็ว หรือช้า หรือจะเข้าใจอะไรยากๆ ก็ตาม ผู้สอนจะต้องเน้นไปที่การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า ความเร็วของความเข้าใจ ผมมักจะได้ยินประโยคว่า “ไม่เป็นไร เรามาเริ่มต้นกันใหม่อีกที…..”
สาม ข้อข้างต้นนั้น ไม่ใช่ทฤษฎีอะไรเลยครับ เป็นหลักพื้นฐานของความเข้าใจคนอื่น เวลาเราต้องการให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ที่ดี เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ดังนั้นถ้าเราสามารถทำได้ตามสามข้อข้างต้น ผมเชื่อว่า เราจะเป็นนัก Coach ที่ดีมาก ผู้เรียนเองก็ไม่หมดแรง หรือหมดกำลังใจในการเรียนรู้ไปซะก่อน

Coach ที่ไม่ดีมักจะบ่นว่า “เรื่องแค่นี้ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกินแล้ว” หลังจากที่สอนงานเสร็จ เพราะรู้สึกว่าเบื่อ และเหนื่อยสำหรับการสอนงาน แต่ Coach ที่ดีนั้น จะเข้าใจคนเรียน แม้ว่าคนเรียนจะไม่รู้เรื่องในสิ่งที่เราสอน แต่เขาก็จะแสดงความเข้าใจ และให้กำลังใจผู้เรียนด้วย โดยเปลี่ยนจากประโยคข้างต้นมาเป็นประโยคทีว่า

“ไม่ เป็นไร ถ้ายังไม่เข้าใจเรามาเริ่มกันใหม่ ผมจะอธิบายช้าๆ และจะยกตัวอย่างจริงให้เห็นภาพนะครับ เราจะได้เข้าไปในทางเดียวกัน ดีมั้ยครับ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น