วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

Feedback ทำไมบางคนรับได้ บางคนรับไม่ได้

feedback111

เรื่องของการพัฒนาบุคคลนั้น นอกจากแผนการพัฒนารายบุคคลที่บริษัทและหัวหน้างานจะต้องเป็นผู้ที่จัดทำให้ กับพนักงานแต่ละคนแล้ว ประเด็นสำคัญมากๆ อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการพัฒนาพนักงาน ก็คือ ตัวพนักงานเอง


การพัฒนาจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ตัวพนักงานเองมีส่วนสำคัญมาก ใครที่เปิดใจ ยอมรับข้อผิดพลาดได้มาก ก็จะมีโอกาสที่จะพัฒนาได้มากกว่า คนที่ปิดใจ ไม่ยอมรับอะไรเลย

และเครื่องมือที่จะทำให้พนักงานรู้ตัวเองว่าตนเอง เก่ง หรือไม่เก่งอะไร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร มีอะไรที่จะต้องพัฒนาบ้าง ก็คือ การให้ Feedback จากหัวหน้างาน

พอพูดถึงการให้ Feedback สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในหลายองค์กรก็คือ มักจะไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีทั้งจากหัวหน้า และพนักงาน ทางฝ่ายหัวหน้า ก็ไม่รู้วิธีการให้ Feedback ที่ดีว่าควรจะพูดอย่างไร บอกอย่างไร ฝ่ายพนักงานเองก็ไม่อยากได้รับ Feedback เพราะรู้สึกกันไปเองว่า แปลว่าเข้าไปรับคำด่าจากหัวหน้า ซึ่งจริงๆ เราคงต้องอาศัยเวลาเปลี่ยนทัศนคติของทั้งหัวหน้าและลูกน้องสักพักใหญ่ ก่อนที่จะใช้ Feedback ได้ดี

ได้อ่านบทความจาก Harvard Business Review ที่มีชื่อว่า How age and gender affect self-improvement ซึ่งวิจัยและเขียนโดย Jack Zenger and Joseph Folkman ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานี้เอง โดยผู้เขียนได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมพนักงานบางคนถึงมักจะต่อต้าน และไม่ชอบ Feedback เลย และทำไมพนักงานบางคนถึงชอบมันนัก

จากผลการวิจัยของผู้เขียนบทความนี้ สรุปได้ใจความว่า ปัจจัยที่ทำให้คนชอบ หรือไม่ชอบ Feedback นั้นมีดังต่อไปนี้
  • อายุของพนักงาน จากผลการวิจัยของผู้เขียนบทความ สรุปได้ว่า ยิ่งพนักงานที่มีอายุมากขึ้นจะยิ่งเปิดใจในการพัฒนาตนเองมากขึ้น ดังนั้น แปลกันง่ายๆ ว่า ยิ่งพนักงานอายุมาก ยิ่งทำให้เขาเปิดใจรับ Feedback ได้ดีขึ้น และชายกับหญิงก็ต่างกัน ผู้ชายจะเปิดใจรับ Feedback ได้ดีตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ผู้หญิงในช่วงอายุน้อย จะไม่ค่อยยอมรับ Feedback แต่เมื่อยิ่งอายุมากขึ้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนความคิด และยอมรับมันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
  • ความมั่นใจในตนเอง จาก ความเข้าใจทั่วไปของคนเรา ก็คือ ถ้าพนักงานคนไหนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง เรามักจะคิดว่าเขาจะต้องต่อต้าน และไม่ชอบ Feedback แน่ๆ แต่ผลการวิจัยของผู้เขียนกลับออกมาต่างกับความรู้สึกข้างต้น สิ่งที่ออกมาก็คือ ยิ่งพนักงานคนไหนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเองก็จะยิ่งเป็นคนที่ต่อต้าน Feedback เหตุผลที่เขาพบจากการวิจัยก็คือ คนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มักจะไม่ต้องการให้ตนเองเป็นที่ไม่ยอมรับของคนอื่น ก็เลยต้องหาเหตุ หาผล หาข้ออ้างมาโต้แย้งว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาให้ Feedback มา ผิดกับคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูงๆ เนื่องจากเขาได้รับการยอมรับจากคนอื่น และรู้สึกมั่นใจในตนเอง ก็เลยทำให้เขาเปิดใจยอมรับ และอยากพัฒนาต่อเนื่อง อยากเป็นคนเก่งมากขี้นเรื่อยๆ เพราะเขามีความเชื่อมั่นใจตนเองสูง ผู้เขียนได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ความเชื่อมั่นในตนเองนั้น ไม่ใช่การคิดเข้าข้างตนเอง แต่เป็นเรื่องการเคารพตนเองมากกว่า ก็เลยทำให้เปิดใจรับ Feedback ได้ดีกว่า
  • เพศ จาก งานวิจัย ก็พบว่า เพศหญิงจะมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยยอมรับ Feedback ผิดกับเพศชาย ที่จะยอมรับเรื่องนี้ได้ดีกว่า แต่เพศหญิงถ้ายิ่งมีอายุมากขึ้น จะเริ่มยอมรับ Feedback ได้ดีกว่า เพศชายที่อายุมากขึ้น
งานวิจัยและบทความที่ผมอ้างอิงมานี้ ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ แต่จะเอามาใช้ได้สักแค่ไหน ก็คงแล้วแต่คนอีกเช่นกัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราตระหนักว่า ในการให้ Feedback พนักงานนั้น เราจะใช้เทคนิควิธีเดียวกันกับพนักงานทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ได้เลย สิ่งที่หัวหน้าจะต้องศึกษาให้ดีก็คือ พนักงานแต่ละคนนั้น เป็นอย่างไร สไตล์การทำงานเป็นอย่างไร ทัศนคติต่องาน ต่อตนเอง ความมั่นใจในตนเอง เพศ และอายุ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนที่จะต้องให้ Feedback พนักงานจะต้องคิด และวางแผนการให้ Feedback ที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ Feedback ประโยชน์ในการพัฒนาพนักงานได้อย่างเต็มที่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น