วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การธำรงรักษาพนักงานที่มีฝีมือ เป็นเรื่องที่คุ้มค่าแก่การลงทุน


เวลาที่พูดถึงเรื่องของการธำรงรักษาพนักงานที่มีฝีมือ ให้ทำงานกับองค์กรไปนานๆ  (Employee Retention) นั้น เรามักจะนึกถึงเรื่องของการหาวิธีการทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานที่เป็นคนเก่ง มีฝีมือ ทำงานกับองค์กรไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อให้เขาสร้างผลงานแก่องค์กรอย่างต่อเนื่อง


และเครื่องมือที่สำคัญในการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกอยากอยู่ทำงานกับองค์กรไป นานๆ ก็คือ เรื่องของการบริหารผลตอบแทนการทำงาน (Reward Management) ซึ่งคำว่า Reward นั้นไม่ได้แปลว่า เงินอย่างเดียวนะครับ หลายๆ องค์กรเข้าใจผิดมากว่า คำว่า การปรับปรับระบบ Reward Management ในองค์กรก็คือการปรับเงินเดือนค่าจ้างให้สูงขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเดือนค่าจ้างนั้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของคำว่า Reward

ในทางทฤษฎีแล้ว คำว่า Reward นั้นประกอบไปด้วยหลายอย่าง ทั้งที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ จับต้องไม่ได้ และทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งองค์ประกอบของ Reward ก็มีดังต่อไปนี้ (อ้างอิงของ Worldatwork)
  • Compensation คือ ค่าจ้างเงินเดือนที่ตอบแทนการทำงานของพนักงาน
  • Benefits คือ สวัสดิการต่างๆ ที่ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน และอำนวยความสะดวกในการทำงาน
  • Work-Life คือ การที่สามารถจะรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้ในขณะที่ทำงานกับองค์กร
  • Performance and Recognition คือ เรื่องของการเน้นการบริหารผลงาน การพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น และการตระหนักในความสำคัญของพนักงาน
  • Development & Career Opportunity คือ โอกาสในการพัฒนาตนเอง และก้าวหน้าในสายอาชีพของตนในการทำงานกับองค์กร
จะเห็นได้ว่า คำว่า Reward นั้น ไม่ได้แปลว่าเงินเพียงอย่างเดียว ยังหมายความรวมถึงเรื่องของความรู้สึกของพนักงาน รวมถึงโอกาสในการพัฒนา และความก้าวหน้าในการทำงานอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการบริหาร Reward นั้นก็คือ เพื่อที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีผลงานที่ดีให้ทำงานกับองค์กรต่อไป สร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง

แต่การที่เราสามารถรักษา พนักงานมือดีให้ทำงานกับองค์กรไปนานๆ นั้น จริงๆ แล้วองค์กรได้มากกว่าผลงานของพนักงานคนนั้น โดยเฉพาะถ้าระบบ Reward ของเราสามารถใช้ในการธำรงรักษาพนักงานได้ถูกคน จะเกิดผลดีตามมามากมายอย่างที่เรานึกไม่ถึง ลองมาดูว่ามีผลดีอะไรบ้าง
  • องค์กรได้พนักงานที่มีฝีมือในการทำงาน เพื่อที่จะได้สร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร โดยไม่ต้องเสียเวลาไปหาคนใหม่ ซึ่งทำให้การเติบโตขององค์กรขาดความต่อเนื่อง เข้าข่าย โตๆ หยุดๆ
  • องค์กรสามารถรักษาพฤติกรรมที่ดีของพนักงานไว้อีกด้วย กล่าวคือ คนเก่ง นั้นมักจะเก่งทั้งในด้านผลงาน และเก่งในด้านพฤติกรรมด้วย การที่เราสามารถรักษาพนักงานที่มีความเก่งทั้งสองด้านไว้ นอกจากผลงานที่ดีขึ้นแล้ว องค์กรยังสามารถรักษา และเผยแพร่พฤติกรรมที่เหมาะกับองค์กรให้คงอยู่ และสืบทอดให้กับพนักงานรุ่นใหม่ๆ โดยกลุ่มพนักงานที่มีฝีมือนี้จะเป็นกลุ่มที่ช่วยทำให้เกิดพฤติกรรมที่ดีต่อ เนื่องอย่างสม่ำเสมอ และจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพนักงานรุ่นใหม่ขององค์กรต่อได้
  • รักษาความรู้ไว้กับองค์กรได้ การ ที่เราสามารถรักษาพนักงานที่เก่งๆ ไว้ได้นั้น จะทำให้เราสามารถที่จะรักษาองค์ความรู้ที่มีในองค์กรไว้ได้ด้วย อีกทั้งยังให้พนักงานเหล่านี้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ สู่พนักงานรุ่นหลัง ซึ่งจะได้เอาความรู้ที่ได้มานี้ไปต่อยอดพัฒนาการทำงานขององค์กรต่อไป โดยไม่ต้องมานั่งเริ่มใหม่ หรือลองผิดลองถูกไปเรื่อย ก็จะทำให้ผลงานขององค์กรดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด
  • รักษาวัฒนธรรม และค่านิยมที่ดีขององค์กรไว้ได้ การ ที่เราสามารถรักษาพนักงานที่ดีไว้ได้นั้น จะทำให้วัฒนธรรมต่างๆ และค่านิยมขององค์กรสามารถที่จะได้รับการสืบทอดต่อไปได้อย่างดี โดยเฉพาะค่านิยมขององค์กรที่เราต้องการรักษาไว้นั้น จะสืบสานต่อไปได้ ก็ด้วยพนักงานกลุ่มนี้เช่นกัน
จะเห็นว่าการที่เราสามารถที่จะทำ ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร โดยเฉพาะระบบ Reward ให้ดีนั้น จะทำให้เราสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่ดีไว้ได้ โดยเฉพาะการรักษาพนักงานที่เก่งๆ นั้น ไม่เพียงแค่ทำให้องค์กรไม่ขาดทรัพยากรที่ดีแล้ว ยังทำให้องค์กรสามารถยืนหยัดมั่นคง และสืบสานค่านิยม และวัฒนธรรมขององค์กรได้อย่างต่อเนื่อง

แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มเกิดคุ้มแล้วล่ะครับ

ตรงข้ามกับองค์กรที่มองระยะสั้นๆ ก็จะต้องวนเวียนอยู่กับการหาคนเข้ามาทดแทนคนเก่าที่ลาออกไปอยู่ตลอดเวลา ความรู้ความชำนาญต่างๆ ก็หยุดชะงัก เพราะขาดความต่อเนื่องในการถ่ายทอดความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ได้ฝังรากลึกลงไป ทำให้องค์กรเกิดความขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัวซักที

ดังนั้นการลงทุนปรับปรงระบบ Reward Management ครั้งเดียว ก็สามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างมากมายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น