วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หัวหน้าที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นหัวหน้า


วันนี้ขอคุยเรื่องของการเป็นหัวหน้าอีกสักวันนะครับ ทุกองค์กรต้องมีตำแหน่งหัวหน้า ก็คือ ไม่ว่าจะมีชื่อตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก ผู้จัดการแผนก ผู้อำนวยการ ฯลฯ เมื่อไหร่ที่ตำแหน่งเหล่านี้มีพนักงานที่จะต้องดูแล หรือที่เราเรียกว่า ลูกน้อง แล้วล่ะก็ คนกลุ่มนี้เราเรียกเขาว่า “หัวหน้า” นั่นเอง


แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า มีหัวหน้าบางคนที่ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองได้เป็นหัวหน้า คือรู้แค่ว่าตอนนี้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแล้ว แต่ก็ยังคงทำงานแบบเดิม เหมือนเดิม ไม่รู้ว่าจะต้องบริหารลูกน้องอย่างไร ไม่รู้ว่าบทบาทของการเป็นห้วหน้านั้นจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยทำงานแค่เพียงที่ตนเคยรับผิดชอบมาก่อน ลูกน้องก็ปล่อยให้ทำงานไป โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผลก็คือ ผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาทำหน้าที่ของหัวหน้างานด้วย ก็เลยไม่รู้ว่าจะเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าไปเพื่ออะไร

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวหน้าที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นหัวหน้าก็คือ
  • ทำงานเหมือนเดิมกับตอนที่เป็นพนักงาน หัวหน้าแบบนี้ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้า แต่ก็ยังคงทำงานเหมือนเดิมกับตอนที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ไม่รู้ว่าการที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมานั้น จะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง ไม่มีใครบอกอะไร แค่รู้ว่าได้ปรับเงินเดือนตามตำแหน่งใหม่ ดีใจพักเดียว จากนั้นก็ทำงานเหมือนเดิมทุกอย่างที่เคยทำ
  • ไม่เคยกำหนดเป้าหมายและวางแผนการทำงาน หัวหน้าบางคนได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยที่จะคิดกำหนดเป้าหมายของทีมงาน ไม่เคยที่จะมอบหมายงานให้ลูกน้อง ไม่เคยวางแผนการทำงานอะไรเลย ขึ้นมาเป็นหัวหน้าก็แค่ชื่อตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังโยนงานให้ลูกน้องเลย เพราะคิดว่าการที่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแล้วแปลว่าไม่ต้องทำงานแล้ว เพราะหัวหน้าก็คือคนที่ใช้คนอื่นทำงานให้ ก็เลยใช้ดะ โดยไม่มีการกำหนดเป้าหมายหรือวางแผนงานอะไรเลย
  • ไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องของผลงาน ที่เห็นปัญหาอีกอย่างของการขึ้นเป็นหัวหน้าก็คือ คนเป็นหัวหน้าไม่เคยที่จะพูดคุยเรื่องผลงานกับลูกน้องของตนเองเลย ใครทำอะไรอย่างไร ก็ปล่อยให้ทำอย่างนั้นต่อไป ใครที่เคยทำงานผิดพลาดอะไร ก็ยังคงปล่อยให้ผิดพลาดต่อไป ใครที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องงาน ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป เพราะหัวหน้าไม่เคยวางแผนที่จะพัฒนาผลงานของพนักงาน ไม่เคยคิดที่จะวางแผนพัฒนาความรู้และทักษะของพนักงาน
  • เกรงใจลูกน้อง เรื่อง นี้เป็นอีกเรื่องที่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้บริหารระดับสูงบ่อยมาก กล่าวคือ หัวหน้าบางคนเกรงใจลูกน้องอย่างมาก ไม่กล้าที่จะสั่งงาน ไม่กล้ามอบหมายงาน เวลาพนักงานทำงานพลาด ก็ไม่กล้าที่จะเรียกมาคุย เวลาที่พนักงานสร้างปัญหากับทีมงาน ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปบอกกล่าวหรือตักเตือน เวลาที่ผู้บริหารมีงานโครงการใหม่ๆ มา และให้ไปกระจายงาน ก็ไม่กล้าที่จะมอบหมายงานให้ลูกน้อง สุดท้ายหัวหน้าก็ทำงานเองคนเดียว ส่วนลูกน้องก็สบาย ไม่ต้องทำงานอะไรเลย
  • ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อง หัวหน้าบางคนไม่รู้ว่า ทำไมตนเองถึงต้องไปสร้างแรงจูงใจอะไรมากมายให้กับลูกน้อง ทำไมเขาทำงานกันเองไม่ได้ ต้องไปจูงใจอะไรให้มันยาก ก็เลยมีพฤติกรรมแบบว่าปล่อยปละละเลยทีมงาน ไม่เคยที่จะชื่นชมลูกน้องเวลาที่ลูกน้องทำงานดี ไม่เคยที่จะปลอบใจเวลาลูกน้องทำงานผิดพลาด เพื่อที่จะได้เป็นพลังในการแก้ไขปรับปรุงงานต่อไปในอนาคต
  • ไม่รู้จักลูกน้องของตนเอง ที่ แย่ที่สุดที่เคยพบเจอมาก็คือ หัวหน้าไม่รู้จักลูกน้องของตนเองเลย ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อลูกน้อง ยิ่งไปกว่านั้น งานที่ลูกน้องแต่ละคนทำก็ไม่รู้อีกว่าใครทำอะไรบ้าง ขอบเขตความรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วแบบนี้จะไปบริหารงานกันอย่างไรได้ล่ะครับ
องค์กรไหนที่หัว หน้างานเกินกว่า 3 แบบที่กล่าวไปข้างต้น ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงจะต้องเหนื่อย เหนื่อยตรงที่จะต้องลงมาทำงานเอง ลงมาคุมงาน ลงมาวางแผนงาน บางท่านอาจจะคิดว่า แม้กระทั่งคนที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นหัวหน้าก็ยังเป็นแบบที่กล่าวมาข้างต้นก็ มี  แล้วสาเหตุที่ทำให้หัวหน้างานเป็นอย่างที่บอกข้างต้นคืออะไรกันแน่

จากที่ได้วิเคราะห์จากองค์กรที่มีปัญหาดังกล่าว ก็พบว่าสาเหตุหลักๆ เกิดจาก

องค์กรไม่มีการเตรียมความพร้อมก่อนเลื่อนเป็นหัวหน้า นี่เป็นสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นกับองค์กรส่วนใหญ่ กล่าวคือ พนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้านั้น องค์กรมักจะเลือกจากพนักงานที่ทำงานดี ทำงานเก่ง มีทักษะความชำนาญในเรื่องของเทคนิคการทำงานมาก แล้วเราก็เลื่อนเขาขึ้นเป็นหัวหน้าด้วยเหตุผลว่าผลงานดีมาก แต่ไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไรให้กับเขาเลย ถึงเวลาก็บอกเขาว่า จากนี้ต่อไปได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแล้วนะ พนักงานก็คิดต่อว่า แล้วยังไงล่ะ พอองค์กรไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไร และไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอะไรใหม่บ้างสำหรับการดำรงตำแหน่งหัวหน้า พนักงานก็เลยไม่รู้ พอไม่รู้ ก็ทำงานเหมือนเดิมทุกประการ ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ทีมงานที่เขาต้องดูแล รู้สึกว่า หัวหน้าใหม่ที่มานั้นเป็นหัวหน้าที่ไม่ได้เรื่องเลย แล้วองค์กรก็จะเสียพนักงานมือดีๆ ไป แต่ได้หัวหน้าแย่ๆ มา 1 คน
ดัง นั้นก่อนจะเลื่อนใครขึ้นมาเป็นหัวหน้า อย่าลืมเตรียมความพร้อมของพนักงานให้ดีเสียก่อน บางองค์กรใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการเตรียมความพร้อมพนักงานเพื่อให้เข้าใจบทบาทของการเป็นหัวหน้างาน ส่งไปเรียนรู้เรื่องทักษะการบังคับบัญชาตั้งแต่ยังเป็นระดับพนักงาน จากนั้นก็อาจจะมีการมอบหมายงานให้พนักงานคนนี้ เป็นหัวหน้าทีมดูแลงานโครงการบางอย่าง โดยให้บริหารทั้งงาน และบริหารทั้งคนในโครงการด้วย เพื่อให้มีโอกาสได้วางแผนงาน มอบหมายและควบคุมงาน รวมทั้งบริหารคนภายในโครงการให้สร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 2-3 ปี เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้ว ก็จะเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็นหัวหน้า

แล้วเราก็จะได้หัวหน้าที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นหัวหน้าที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น