วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

บริหารผลงาน ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ทุกท่านที่ทำงานในภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะท่านที่ทำงานในระดับหัวหน้างานขึ้นไป จะต้องเคยได้ยินคำว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานมาแล้วทุกคน แนวคิดดั้งเดิมของการประเมินผลงานที่คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อถือและใช้เป็น ประจำก็คือ การประเมินผลงานโดยใช้แบบฟอร์มในการประเมิน และจะประเมินผลงานปีละ 2 ครั้ง โดยที่ในระหว่างปีจะไม่มีการพูดถึงเรื่องการประเมินผลงานเลย จะมีพูดคุยกัน หรือมีการประเมินกันก็ช่วงกลางปีกับปลายปีเท่านั้น


ลูกค้าผมหลายๆ บริษัทก็มาปรึกษาผมว่า ที่บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด นั้นมีขายแบบฟอร์มการประเมินผลงานที่ชัดเจนหรือไม่ หรือไม่ก็ รับออกแบบฟอร์มการประเมินผลงานหรือไม่ คำถามก็คือถูกหรือไม่ถ้าเราจะประเมินผลการทำงานของพนักงานโดยยึดแบบฟอร์มการ ประเมินเสมือนพระเจ้า กล่าวคือ ถ้ามีแบบฟอร์มที่ดูดี หรูหรา มีปัจจัยต่างๆ ที่ดูทันสมัย จะสามารถประเมินผลการทำงานของพนักงานได้ชันเจน คำตอบคือ “ไม่มีทาง!”

ในปัจจุบันนี้ได้มีแนวคิดในเรื่องของการบริหารผลงานเข้ามา Performance Management ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่คนไทยเพิ่งจะเห็นความสำคัญ และเพิ่งริเริ่มจะนำมาใช้ และที่สำคัญก็คือหลายๆ บริษัทที่บอกว่าตนเองมีระบบการบริหารผลงานแล้วนั้น แต่พอตรวจสอบเข้าจริงๆ มันก็คือการประเมินผลงานตามลักษณะเดิม (Performance Appraisal) นั่นเอง ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แล้วอะไรคือการบริหารผลงานกันแน่ ?

จุดสำคัญที่จะทำให้ระบบการบริหารผลงานได้ผลดีนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือแนวความคิดของการบริหารคนของบรรดาหัวหน้างานทั้งหลายใน องค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ทั้งหัวหน้าและลูกน้องจะต้องมีแนวคิดและหน้าที่ในการบริหารผลงานให้เกิดขึ้น ให้ได้ มิใช่หัวหน้ามีหน้าที่ประเมินผลงานลูกน้องเพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่เคยทำ กันมา ถ้าจะกล่าวโดยสรุปว่าสิ่งที่ทำให้บริษัทซึ่งมีระบบการบริหารผลงานแล้วนั้น ไม่สามารถทำการบริหารผลงานได้จริงๆ นั้นก็คือ
  1. หัวหน้างานหรือผู้จัดการก็ยังคงเน้นไปที่การประเมินผลงาน ตามแบบฟอร์ม (Performance Appraisal) มากว่าการมานั่งวางแผนผลงานของลูกน้องแต่ละคนว่าจะทำผลงานอะไร และจะใช้เวลาเท่าไร จะวัดผลกันอย่างไรว่าผลงานที่ออกมานั้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่
  2. หัวหน้างานยังคงเป็นฝ่ายประเมินผลงานลูกน้องของตนเท่านั้น เวลาสื่อความเรื่องผลงานก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าในการสื่อความให้ลูกน้อง ทราบ (One-way communication) แต่ ไม่มีการพูดคุยกันในลักษณะปรึกษาหารือกัน (Two-way communication) ถึงผลงานที่วางแผนไว้ ว่าขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง และในฐานะของหัวหน้านั้นจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เพื่อให้ผลงานที่ตกลงกันไว้สามารถบรรลุผลได้
  3. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในการทำงาน หัวหน้างานก็จะเน้นการต่อว่า ตำหนิติเตียน มากกว่าที่จะช่วยกันค้นหาปัญหา และคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ
  4. หัวหน้างานมักจะเน้นไปที่ผลงานที่ผ่านไปแล้ว มากกว่าที่จะมองไปที่ปัจจุบัน หรืออนาคต
ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นจุดบกพร่องที่สำคัญมากๆ ในการที่จะทำให้ระบบการบริหารผลงานที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ในองค์กร สิ่งที่สำคัญที่สุด และอยากเน้นมากๆ ก็คือ การบริหารผลงานจริงๆ ก็คือการสื่อสารกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องในเรื่องของงานที่ลูกน้องเรารับ ผิดชอบอยู่ เพื่อให้ลูกน้องของเราทราบถึงเป้าหมายของงาน ความคาดหวังของบริษัทหรืององค์กร วิธีการวัดผลงาน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยที่หัวหน้ากับลูกน้องจะต้องคุยกันบ่อยๆ ในเรื่องของงาน เพื่อค้นหาแนวทางในการบรรลุเป้าหมายผลงานที่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับแบบฟอร์มในการประเมินสักเท่าไร

ในคราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังว่า ในการทำระบบการบริหารผลงานให้สำเร็จนั้นจะต้องเปลี่ยนความคิดและความเชื่อ อย่างไรจึงจะทำให้ระบบการบริหารผลงานนั้นได้ผลมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น