วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

จะหาคนดีและคนเก่งมาทำงานได้อย่างไร

ท่านเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ “ลูกน้องที่ทำงานด้วยผลงานแย่มาก สอนเท่าไรก็ไม่เคยจำ แถมยังทำงานแย่ลงกว่าเดิมอีก” หรือ “พนักงานคนนี้มีเก่ง และมีความสามารถมาก แต่ทำไมถึงทำงานเข้ากับคนอื่นในทีมงานไม่ได้เลย” หรือ “ได้คนเข้ามาทำงานไม่นานก็ลาออกไปหมด โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบงานที่ทำอยู่” หรือ “กว่าจะฝึกคนมาจนทำงานนี้ได้ แต่สุดท้ายก็ลาออกไปอยู่ที่อื่นกันหมด” ฯลฯ
จากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวจะเห็นว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ในการผลักดันให้บริษัทเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ หนึ่งในความรู้ที่หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกคนต้องมีติดตัวไว้ก็คือ ความรู้ในเรื่องของการสรรหาคัดเลือกคนเข้าทำงาน หัวหน้าหลายคนอาจจะถามว่า งานนี้เป็นงานของฝ่ายบุคคลไม่ใช่หรือ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ลองพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ก่อน



“ใครเป็นคนรู้ดีที่สุดในงานที่ต้องทำ”

“ใครเป็นคนรู้ดีที่สุดว่าต้องการพนักงานคุณสมบัติแบบไหน และมีความรู้อะไรบ้าง และต้องการคนแบบไหนมาทำงานด้วย”

“ใครที่จะต้องทำงานกับพนักงานคนนั้นไปตลอด”

คำตอบที่ได้นั้นก็คือ “หัวหน้างาน” หรือ “ผู้จัดการ” ที่เป็นคนดูแลงานนั้นๆ ไม่ใช่ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบุคคลเป็นเพียงหน่วยงานที่อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือบรรดาผู้จัดการทั้งหลายในการหาแหล่งคน และช่วยในการคัดเลือกคนในเบื้องต้น แต่หัวหน้างานโดยตรงจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ต้องการคนแบบไหน คุณสมบัติแบบใด และต้องผ่านงานอะไรมาก่อนบ้าง รวมทั้งต้องมีพฤติกรรมในการทำงานในลักษณะใด ถึงจะทำงานได้เข้ากับคนอื่นๆ ในหน่วยงานของตนเองได้ และที่สำคัญผู้จัดการจะต้องทำหน้าที่ในการคัดเลือกคนด้วยตนเองทุกครั้งหาก ต้องการพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนคัดเลือกให้ เพราะยังไงซะฝ่ายบุคคลก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่าหน่วยงานของเรานั้นต้องการคน แบบไหนถึงจะทำงานได้อย่างดี

ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ในตอนแรก หัวหน้าหน้า หรือผู้จัดการทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่ตนต้อง การ และต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคน และสัมภาษณ์ผู้สมัครที่มาสมัครงานในบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำงานในบริษัท สิ่งที่สำคัญในการคัดเลือกคนเข้าทำงานนั้นไม่ใช่ความรู้ความสามารถเพียง อย่างเดียว แต่ยังต้องพิจารณาถึงคุณลักษณะส่วนบุคคล หรือที่เรียกง่ายๆ ว่านิสัยส่วนตัวด้วย ว่าสามารถทำงานเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทเราได้หรือไม่ เช่นบริษัทเราเป็นโรงงาน เราต้องการพนักงานที่มีจิตสำนึกในเรื่องของคุณภาพในการผลิตสินค้า และจิตสำนึกในเรื่องของการประหยัด ถ้าเราได้สัมภาษณ์พนักงานคนนึงซึ่งมีความรู้ความสามารถมากๆ แต่ดูจากลักษณะประวัติการทำงาน และจากการสอบถามแล้วเห็นชัดว่า เป็นคนขาดความละเอียดรอบคอบ และไม่เคยนึกถึงต้นทุนที่ใช้ในการทำงานเลย มาเข้าห้องน้ำแล้วก็ไม่ปิดน้ำให้สนิท เราก็ไม่ควรจะรับพนักงานที่มีพฤติกรรมเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วย แม้ว่าเขาจะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ตาม แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าพนักงานที่มาสมัครงานกับเรานั้นมีพฤติกรรมที่ตรง กับสิ่งที่เราต้องการ
คำตอบก็คือ ต้องเรียนรู้วิธีการและขั้นตอนในการสรรหาคัดเลือก วิธีการสัมภาษณ์พนักงานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ขั้นตอนที่สำคัญในการว่าจ้างพนักงานให้ได้คุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการทั้ง ในด้านความรู้ความสามารถ และพฤติกรรมต่างๆ มีดังนี้
  1. ทบทวนหน้าที่และความรับผิดชอบของงานที่เราต้องการจะรับพนักงานใหม่ให้ชัดเจน โดยอาศัยใบพรรณนาหน้าที่งานที่เรามีอยู่
  2. กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่เราต้องการทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถอื่นๆ ตลอดจนพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่เราต้องการให้ชัดเจน อาจจะทำรายการพฤติกรรมที่เราต้องการไว้ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการสัมภาษณ์และคัดเลือกพนักงาน
  3. สรรหาผู้สมัครจากแหล่งที่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนด เพื่อให้มีผู้สมัครมาให้เราเลือกให้มากที่สุด ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องปรึกษาฝ่ายบุคคลว่า ต้องไปหาจากแหล่งไหนบ้าง
  4. ฝ่ายบุคคลคัดเลือกพนักงานที่มาสมัครงานในเบื้องต้น โดยพิจารณาจากคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในข้อ 2
  5. หัวหน้างาน หรือผู้จัดการ สัมภาษณ์ผู้สมัครที่ได้คัดเลือกไว้ด้วยตนเอง โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้ในการตั้งคำถามเพื่อสอบถามผู้สมัคร สิ่งที่สำคัญในการสัมภาษณ์ก็คือ จะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะถามอะไร บางครั้งอาจจะต้องเตรียมคำถามล่วงหน้าไว้ด้วย ให้จำไว้ว่า คำถามทุกคำถามในการสัมภาษณ์จะต้องเป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์ในการถามที่ ชัดเจน ไม่ใช่ถามไปเล่นๆ หรือไม่รู้จะถามอะไรก็ถามเรื่องทั่วๆ ไป ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่ได้ข้อมูลที่สำคัญในการใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เลือกผู้สมัครได้เลย
  6. ประเมินผลผู้สมัครแต่ละคน โดยเปรียบเทียบคุณสมบัติในหัวข้อต่างๆ ที่เราต้องการ ดูว่าคนไหนน่าจะเหมาะกับเรามากที่สุด ทั้งนี้จะตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน เราจะต้องดำเนินการตั้งแต่ข้อ 1 – 5 อย่างเคร่งครัด
ถ้าได้ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ข้างต้นแล้ว รับรองได้ว่าเราจะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำงานกับเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่พนักงานที่มีความรู้ความสามารถแบบเลิศเลออะไร แต่จะได้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถ และมีพฤติกรรมที่เข้ากับบริษัทของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลให้เขายินดี และเต็มใจที่จะทำงานในบริษัทเราอย่างเต็มความสามารถ และอยู่ทำงานกับเราได้นานกว่า
ช่วงนี้เป็นช่วงที่บางบริษัทกำัลังเริ่มที่จะรับพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้นอย่ารับคนเพื่อให้มีคนเข้ามาทำงาน จงรับคนเพื่อใ้ห้เขาสามารถเข้ามาสร้างผลงานที่ดีต่อองค์กร และเหมาะสมกับองค์กรของเราจะดีกว่านะครับ
และไม่จำเป็นต้องไปทำ competency อะไรให้มันยุ่งยากมากมาย เรื่อง compentency นั้นเ็ป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ใช้ยากครับ กว่าจะใช้กันเป็นมันก็ไม่ทันกินแล้ว เริ่มจะสิ่งง่ายๆ ก่อนจะดีกว่าครับ ก็อย่างที่ผมว่าไปข้างต้นนั่นแหละครับ แ้ล้วไว้จะเขียนเรื่อง competency ให้อ่านบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น