วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การสัมภาษณ์ผู้สมัคร ใครเลือกใครกันแน่

employee_retention111

เครื่องมือในการคัดเลือกพนักงานที่ยังคงเป็นที่นิยม และใช้กันอย่างแพร่หลาย เรียกได้ว่า 100% ของธุรกิจที่มีการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานจะต้องใช้วิธีการนี้ก็คือ การสัมภาษณ์พนักงาน ทราบหรือไม่ว่า การที่เราสัมภาษณ์พนักงานเข้าทำงานนั้น เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้สมัครใช้ในการประเมินบริษัทได้ ว่าเป็นบริษัทที่เราควรจะเลือกทำงานด้วยหรือไม่


จะเห็นได้ว่า จากในอดีตที่เรามักจะมองว่า นายจ้างเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะเป็นคนที่เลือกพนักงานเข้าทำงาน ผู้สมัครยังก็ต้องง้อเรา ดังนั้นเราจะทำพฤติกรรมอย่างไรก็ได้ในการสัมภาษณ์ แต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป ผู้สมัครเองก็มีทางเลือกมากขึ้น และจะประเมินบริษัทที่ไปสมัครจากคนที่มาสัมภาษณ์เขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบุคคล และผู้บริหารของบริษัท และส่วนใหญ่ก็เป็นว่าที่หัวหน้าในอนาคตของผู้สมัครด้วยซ้ำไป

บริษัทของท่านผู้อ่านละครับ มีวิธีการสัมภาษณ์พนักงานอย่างไรกันบ้าง แล้วในการสัมภาษณ์ผู้สมัครที่เรียกกว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ดีนั้น จะต้องเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันครับ
  • การสัมภาษณ์ที่ดีจะต้องท้าทาย แต่ไม่ท้าตีท้าต่อย หมายถึงวิธีการในการสัมภาษณ์ คำถามที่ใช้ เราสามารถที่จะสร้างคำถามที่ท้าทายผู้สมัครได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้สมัครต้องใช้ความคิดความอ่านในการตอบ ซึ่งถ้าเราถามคำถามที่ท้าทาย และเป็นคำถามที่ดีด้วยแล้ว ผู้สมัครเองก็จะรู้สึกว่า คนสัมภาษณ์นั้นเป็นคนเก่ง มีตรรกะ มีเหตุผล ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกอยากทำงานด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้สัมภาษณ์ใช้คำถามกวน และมีท่าทีที่ท้าตีท้าต่อย ใช้คำพูดที่ไม่ดี กวนโมโหตลอดเวลา ประเภทว่า ยิ่งทำให้ผู้สมัครจนมุมได้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกดีมากเท่านั้น การสัมภาษณ์แบบนี้มันดีจริงๆ หรือ เราไปสร้างความรู้สึกในเชิงลบกับผู้สมัครมากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งอาจจะทำให้ผู้สมัครรู้สึกไปถึงว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย ผู้บริหารเองก็ไม่น่าเคารพ ไม่มีความเป็นผู้นำเลย ก็อาจจะตัดสินใจไม่เลือกที่นี่ และที่สำคัญก็คือ เขาอาจจะบอกเพื่อนๆ ของเขาต่อไปเรื่อยๆ ว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย เราก็จะเสียโอกาสในการหาผู้สมัครมือดีเข้ามาทำงานกับบริษัท
  • ควรทำให้ผู้สมัครรู้สึกดี และประทับใจในการมาสัมภาษณ์ ผมเชื่อว่า เหตุผลในข้อนี้เมื่อในอดีต อาจจะไม่ค่อยมีใครคิดกัน คิดแค่เพียงว่า การสัมภาษณ์ก็คือ การคัดเลือกพนักงาน ที่กำลังมาของานเราทำ ดังนั้นเราก็ทำหน้าที่เลือกไปตามมาตรฐาน และคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่กำหนดไว้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบวิธีการพูดคุยก็ไม่เคยใส่ใจ แต่ในปัจจุบันนี้คงใช้วิธีการแบบนั้นไม่ได้อีกต่อไป เพราะการสัมภาษณ์ถือเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่ทำให้ผู้สมัครมองเห็นภายในองค์กร ของเราได้ โดยผ่านตัวผู้สัมภาษณ์นี่แหละครับ ในยุคนี้จึงมักจะต้องทำให้การสัมภาษณ์พนักงานแล้ว พนักงานรู้สึกประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับ การพูดคุย คำถามที่ใช้ ความท้าทายต่างๆ และที่สำคัญก็คือ ผู้สัมภาษณ์ควรจะให้เวลากับผู้สมัครอย่างเต็มที่ในการคัดเลือกและพิจารณาผู้ สมัครแต่ละคน ตัวอย่างองค์กรที่ชื่อ Google เขาจะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับตัวผู้สมัครที่มาสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะได้งานหรือไม่ได้งาน แต่ผู้สมัครก็จะรู้สึกว่า เขาได้รับการต้อนรับที่ดี อบอุ่น และเมื่อไหร่ที่มีคนขอคำแนะนำว่าบริษัทนี้ดีหรือไม่ดี 80% ของผู้สมัครก็จะตอบว่าดี ให้มาสมัครได้เลย เพราะเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยจริงๆ เราก็จะมีโอกาสได้รับใบสมัครจากผู้สมัครมือดีๆ มากขึ้นไปด้วย เราคงไม่อยากให้บริษัทเราเป็นสถานที่ทำงานที่ถูกนินทาจากผู้สมัครส่วนใหญ่ ว่า เป็นบริษัทที่มีการสัมภาษณ์พนักงานที่แย่มาก และไม่น่าทำงานด้วยเลย จริงมั้ยครับ
  • เลือกผู้สัมภาษณ์ที่เป็นคนเก่ง และเป็นมือดีของบริษัท ในการเลือกคนที่จะมาเป็นกรรมการสัมภาษณ์นั้น บริษัทของท่านเลือกกันอย่างไรครับ บางบริษัทบอกว่า ใครก็ได้ สัมภาษณ์ไปเถอะ เอาพอเป็นพิธีก็พอ แต่บริษัทที่ต้องการคนเก่งเข้าทำงาน ก็จะเลือกเอาคนเก่งเท่านั้นที่จะมาสัมภาษณ์ผู้สมัคร เพราะเขาเชื่อว่า คนเก่ง จะเลือกคนเก่งเข้าทำงาน ถ้าเราเอาคนไม่เก่งมาเลือกพนักงาน เขาก็จะเลือกคนที่แย่กว่าเขาเข้ามาทำงาน องค์กรเราก็จะยิ่งแย่ลง เพราะมีแต่คนไม่เก่งเข้ามา ปัจจุบันนี้ ใครที่จะมาเป็นคนสัมภาษณ์ผู้สมัครได้นั้น ไม่ใช่มาแบบง่ายๆแล้ว จะต้องผ่านการอบรม ฝึกฝน และมีการกำหนดแนวทางในการสัมภาษณ์อย่างชัดเจน และมีการฝึกการมองคน พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ความรู้สึกก็เลือกได้อีกต่อไป อย่าลืมนะครับ คนเก่ง จะเลือกคนที่เก่งเข้าทำงานด้วย เพราะเขาอยากได้คนที่มาทำงานให้เขาได้จริงๆ
ส่วนเรื่องของเทคนิคในการใช้คำถาม หรือวิธีการสัมภาษณ์นั้น เราสามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ แต่เรื่องที่เราจะทำให้ผู้สมัครรู้สึกประทับใจในการสัมภาษณ์นี่สิ เป็นประเด็นที่หลายองค์กรยังมองข้ามกันอยู่ เรามักจะหาใครก็ได้มาสัมภาษณ์ และปล่อยผู้สมัครนั่งรอไปเรื่อยๆ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ต้อนรับ ไม่มีการพูดคุย บางที่ให้รอแบบไม่รู้กำหนดเวลาว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้สัมภาษณ์ บางแห่งบอกเลื่อนการสัมภาษณ์กันตรงนั้นเลยก็มี ฯลฯ

อย่ามัวแต่คิดการใหญ่ ในการสร้าง Employer Branding จนลืมสิ่งใกล้ตัวแบบนี้ เพราะเรากำลังมองข้ามหน้าต่างบานใหญ่ที่กำลังเปิดให้ผู้สมัครมองเข้ามาใน บริษัทได้อย่างชัดเจน โดยหารู้ไม่ว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Employer Branding เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น