จากที่ได้ทำงานในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคลมาเป็นเวลานาน และได้สัมผัสกับบริษัทต่างๆ มากมาย ในหลากหลายธุรกิจ แต่ละบริษัทต่างก็มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล และพยายามที่จะสร้างระบบนี้ให้มีความแข็งแรง เพื่อที่จะเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไปในอนาคตได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แต่ละบริษัทจะมีความแข็งแรงของงานบริหารทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกันออกไป บางบริษัท HR แข็งแกร่งมาก เป็นหลักในการทำธุรกิจของบริษัทได้ บางบริษัทก็กลางๆ ไม่เด่น แต่ก็ไม่ด้อยอะไร บางบริษัทต้องเรียกกว่า แย่เลยก็มี แต่ทุกบริษัทต่างก็พยายามที่จะสร้างระบบ HR ที่ดีให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ทำไมบางบริษัทถึงทำยังไงก็ไม่สำเร็จนั้น CEO ของบริษัทมีส่วนสำคัญมากครับ
CEO ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการบริหารคน จะมีวิธีการบริหารคนอย่างไร มาดูกันครับ
- เน้นไปที่กำไร ยอดขาย ยอดผลิต CEO ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการบริหารคน มักจะมุ่งเน้นที่จะบริหารองค์กรโดยมองไปที่ผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น กำไร ยอดขาย ต้นทุน ปริมาณการผลิต ยอดของเสีย ฯลฯ ซึ่งไม่มีตัวไหนที่บอกว่า เน้นการบริหารคนได้เลย CEO ประเภทนี้ไม่สนใจว่าจะมีพนักงานเข้ามาทำงานแบบไหน แต่สิ่งที่ต้องการก็คือ ต้องสร้างผลงานให้ได้ตามที่ตนต้องการ เวลาบริหารงานก็เน้นไปที่เรื่องของผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ และไม่ค่อยจะมองเรื่องของการพัฒนาคนสักเท่าไหร่นัก เพราะมองว่า การพัฒนาคนเป็นเรื่องที่เสียเวลา และทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้นโดยใช่เหตุ
- ปล่อยให้งาน HR เป็นหน่วยงานที่ไปขึ้นกับใครก็ได้ CEO ของบริษัทที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารคนนั้น มักจะให้หน่วยงาน HR ไปขึ้นกับหน่วยงานอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมาขึ้นตรงกับตนเอง เพราะมองว่า งาน HR เป็นเพียงแค่งานเอกสารเท่านั้น ดังนั้นไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ก็มักจะไปขึ้นอยู่กับฝ่ายบัญชีการเงินบ้าง อยู่กับฝ่ายธุรการบ้าง บางแห่งก็ฝากให้ผู้จัดการโรงงานช่วยดูแลก็มี ผลก็คือไม่มีใครมองเห็นความสำคัญของการบริหารคน
- ให้ขึ้นกับ CEO แต่ให้ใครมาบริหารก็ได้ อีกแนวที่เห็นก็คือ ให้ฝ่ายบุคคลขึ้นตรงกับ CEO ของบริษัท แต่กลับไม่มีการสรรหาคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้าน HR เข้ามาบริหารจัดการ แต่กลับให้ใครก็ได้ หรือบางแห่งให้พนักงานที่มีผลงานแย่ๆ แต่ไม่รู้จะไปย้ายไปไหนดี ก็เลยจับให้เขามาอยู่ฝ่ายบุคคล เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ได้สร้างผลงานอะไร
- มีฝ่ายบุคคล แต่กลับตัดสินใจกันเอง บางบริษัท มีฝ่ายบุคคล แต่กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายบุคคลไม่มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องอะไรใดๆ ในการบริหารคนเลยสักนิด เนื่องจาก CEO กับเหล่าบรรดาผู้จัดการตามสายงานเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมด การจะรับใครหรือไม่รับใคร ก็ไม่เคยผ่าน HR แต่รับกันเอง แล้วค่อยมาแจ้ง HR ว่ารับมาแล้ว เรื่องเงินเดือนก็กำหนดกันเองให้ยุ่งไปหมด ใครอยากจะให้เงินเดือนใครเท่าไหร่ก็ไม่มีการมาพิจารณาถึงความเป็นธรรมภายใน องค์กรเลย ใครอยากจะส่งใครไปพัฒนาหรือฝึกอบรม ก็ติดต่อกันเอง โดยไม่ผ่านฝ่ายบุคคล ฯลฯ
แต่องค์กรที่ CEO ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารคน จะมีลักษณะดังนี้
- CEO มองเรื่องคนว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จของธุรกิจ ดังนั้นงาน HR จะต้องเริ่มต้นเป็นพื้นฐานเลย ตั้งแต่ต้องกำหนดเลยว่า คนที่องค์กรของเราต้องการนั้นจะต้องมีคุณสมบัติหลักอย่างไร และจะเคารพในคุณสมบัติที่กำหนดไว้ โดยใช้คุณสมบัติเหล่านี้ที่กำหนดขึ้นเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานใน องค์กร ไม่ได้ต่างคนต่างเลือกเข้ามา
- CEO จะมองที่ระบบ และมาตรฐานเป็นสำคัญ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาคน ก็จะต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่มีการเล่นเส้นสาย หรือเด็กใคร แต่จะต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของบริษัทอย่างเคร่งครัด โดย CEO เองก็ไม่มีข้อยกเว้น เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็เช่นกัน จะต้องบริหารภายใต้ระบบที่ได้ออกแบบและตกลงร่วมกันไว้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการบริหารค่าตอบแทนขององค์กรไว้
- CEO มักจะสนับสนุนให้ ผู้จัดการสายงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารคนของหน่วยงานตนเอง ภายใต้ระบบที่ HR กำหนดไว้และตกลงร่วมกันแล้ว ว่าจะบริหารตามแนวทางนี้ และCEO ก็จะไม่ปล่อยให้ผู้บริหารที่มีอิทธิพลสูงๆ ดำเนินการบริหารคนตามใจตนเองอย่างเด็ดขาด แต่จะต้องบริหารด้วยมาตรฐานและกฎเกณฑ์อันเดียวกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น
ผลการสำรวจความ พึงพอใจของพนักงาน หรือ ผลการสำรวจความผูกพันของพนักงาน จะเป็นตัวบอกเราได้ว่า องค์กรของเรา โดย CEO ที่บริหารอยู่นั้น ในมุมมองพนักงานเห็นว่าให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเพียงใด ผมเคยเจอมากับตัวเองแล้วว่า ตอนที่สัมภาษณ์ CEO ของบริษัท ภาพของการบริหารคนนั้นเป็นภาพที่สวยหรูมาก นโยบาย คำพูดต่างๆ ของ CEO ล้วนแต่บอกว่าคนสำคัญที่สุด แต่พอสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในแต่ละระดับออกมา ความเห็นที่ได้ออกมาส่วนใหญ่ก็คือ ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารคนเลย เน้นแต่เรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก ส่วนนโยบายและแนวทางการบริหารคนของบริษัทนั้น สิบปีที่แล้วเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น แถมบางอย่างยังแย่ลงด้วยซ้ำไป
ถ้าองค์กรของ ท่านอยากมีระบบ HR ที่แข็งแกร่ง ก็คงต้องมองย้อนกลับไปที่ตัว CEO ขององค์กรก่อนว่าท่านให้ความสำคัญในเรื่องคนมากน้อยสักแค่ไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น