หัวหน้างานเองก็ถูกพร่ำสอนว่า จะต้องเป็น Coach ที่ดี และมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาและสอนงานลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องมีผลงานที่ดี ขึ้น แต่ในทางปฏิบัตินั้น สำเร็จแค่เพียง 15% เท่านั้น แล้วอีก 85% ล่ะทำไมถึงไม่สำเร็จ สาเหตุที่เกิดขึ้นก็คือ หัวหน้างานมักจะไม่ค่อยชอบสอนงานลูกน้องตนเอง และบางคนก็ไม่อยากสอนด้วยซ้ำไป ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก งานที่รัดตัว และไม่มีเวลาที่จะมานั่งสอนงาน บางส่วนก็คิดว่าตนเองสอนงานแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ทำแค่เพียงการวางแผนและควบคุมติดตามเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่สอนงานอย่างจริงๆ จังๆ เลยสักนิด
มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งทำขึ้นโดยบริษัท CO2 Partners ซึ่งสอบถามพนักงานที่ทำงานในบริษัทต่างๆ ด้วยคำถามที่ว่า “ใครที่คุณจะไปปรึกษาหารือด้วยถ้าเกิดปัญหาในงานของตนเอง?” คำตอบที่ได้มีดังนี้ครับ
เพื่อนร่วมงาน | 24% | ||
เพื่อนรุ่นพี่ที่อยู่ตำแหน่งเดียวกัน | 15% | ||
เพื่อนที่อยู่คนละบริษัท | 14% | ||
พี่เลี้ยงที่คอยสอนงาน | 13% | ||
หัวหน้างานของตนเอง | 11% | ||
ครอบครัว | 7% | ||
เก็บไว้คนเดียวไม่คุยกับใคร | 4% |
งานวิจัยนี้บอกเราว่า พนักงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะไปหารือกับหัวหน้างานของตนเองเลย เวลาที่มีปัญหาในการทำงาน แต่กลับไปปรึกษาหารือกับคนอื่นมากกว่า มีเพียงแค่ 10% จากผู้ตอบทั้งหมด 100% ที่บอกว่าไปคุยกับหัวหน้างานของตนเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ได้มามีดังนี้ครับ
- ไม่อยากให้หัวหน้ารู้ว่าเราทำไม่ได้
- หัวหน้าเราอาจจะไม่รู้คำตอบก็ได้ เพราะขนาดเรายังไม่รู้เลย
- หัวหน้าของเราดูเหมือนทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา และเขาคงไม่มีเวลาที่จะมาช่วยเราแน่นอน
- หัวหน้างานไม่ชอบฟังให้จบ และมักจะบอกว่า ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย
- ต้องการคนที่เข้าใจปัญหาจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงรับฟังปัญหาแค่แป๊ปๆ แล้วก็บอกเราว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
ดังนั้นจากงานวิจัยข้างต้น ถ้าเราจะนำเอาผลมาใช้ในทางปฏิบัติ ก็แปลว่า ถ้าจะให้องค์กรของเรามีการสอนงานที่ประสบความสำเร็จอย่างจริงจังนั้น ก็ต้องเริ่มต้นที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องกัน ก่อนเลย และคนที่จะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อนก็คือ “หัวหน้า” นี่แหละครับ จะให้ลูกน้องเข้าหาก่อนก็คงจะยาก การที่เราเป็นหัวหน้างานนั่นก็แปลว่าเราจะต้องทำให้ลูกน้องอยากทำงานให้เรา ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จุดนี้ต้องใช้เวลามากในบางคน แต่สำหรับหัวหน้างานบางคนนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับเขาเลยก็ มี จะเห็นว่าหัวหน้างานแบบนี้ ลูกน้องมักจะเข้าหาและมีเรื่องมาปรึกษาหารืออยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว
เมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้น การสอนงานก็จะประสบความสำเร็จ เพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และรู้ว่าแต่ละฝ่ายนั้นต้องการอะไร มีเจตนาอย่างไร
จะเห็นได้ชัดเลยว่า ในบางบริษัทนั้นเสียเงินค่าฝึกอบรมหัวหน้างานในเรื่องของการสอนงานไปมากมาย เพื่อจะที่จะทำให้หัวหน้างานสอนงานลูกน้องเป็น มีการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการสอนงานมากมาย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ สาเหตุก็คือ การขาดความสัมพันธ์ที่ระหว่างกันนี่แหละครับ
ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นมุ่งเน้นในเรื่องของการสอนงาน เราควรจะเริ่มต้นจากการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูก น้องเสียก่อนครับ ให้หัวหน้างานได้เรียนรู้ที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความไว้วางใจจากลูกน้องของตน เมื่อไรที่มีจุดนี้แล้ว คราวนี้ไม่ใช่แค่การสอนงานนะครับ เรื่องอื่นๆ ก็จะดีตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงจูงใจ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้นอย่างห้ามไม่ได้เลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น