วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไม่ได้ทำผิดแต่ถูกลงโทษ คนผิดกลับลอยนวล


นิทานอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นของหัวหน้างาน ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งในครอบครัวของเราเอง เป็นความเชื่อที่มองว่า คนที่ไม่ดีจะต้องเป็นคนผิดเสมอ โดยไม่ต้องสอบสวนให้เสียเวลา ด้วยลักษณะแบบนี้ มันก็คือการจับแพะดีๆ นั่นเอง ลองอ่านนิทานเรื่องนี้ดูนะครับ


หญิงชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียวในกระท่อม ด้วยความเหงานางจึงหาสัตว์มาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนสองตัว คือ ลิงและลา วันหนึ่งหญิงชาวบ้านคนนี้ต้องออกไปตลาดเพื่อซื้ออาหาร ก่อนออกจากบ้านเธอได้เอาเชือกมาผูกคอลิง แล้วมัดขาของลาเอาไว้ทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงทั้งสองตัวเดินย่ำไปมาในกระท่อมจนทำให้ข้าว ของต่างๆ ได้รับความเสียหาย

ทันทีที่หญิงชาวบ้านออกจากบ้านไป ลิงซึ่งมีความฉลาดและแสนซนเป็นคุณลักษณะประจำตัวก็ค่อย ๆ คลายปมเชือกออกจากคอของมัน อีกทั้งยังซุกซนไปแก้เชือกมัดขาให้แก่ลาอีกด้วยหลัง จากนั้นเจ้าลิงก็กระโดดโลดเต้น ห้อยโหนโจนทะยานไปทั่วกระท่อมจนทำให้ข้าวของต่างๆ ล้มระเนระนาดกระจัดกระจายไปทั่ว อีกทั้งยังซุกซนรื้อค้นเสื้อผ้าของหญิงชาวบ้านมาฉีกกัดจนไม่เหลือชิ้นดี

ในขณะที่ลา ได้แต่มองดูการกระทำของเจ้าลิงอยู่เฉย ๆ สัก ครู่หนึ่ง หญิงชาวบ้านคนนี้ก็กลับมาจากตลาด เจ้าลิงมองเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกลจากทางหน้าต่าง ก็รีบเอาเชือกมาผูกคอตนไว้ อย่างเดิมและอยู่อย่างสงบนิ่งฝ่ายหญิงชาวบ้านเมื่อเปิดประตูกระท่อมเข้ามา เห็นข้าวของของตนถูกรื้อค้น กระจุยกระจายเช่นนั้นก็เกิดโทสะขึ้นทันที หันมองลิงและลา เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ก่อเรื่อง และเห็นว่าลาไม่มีเชือกผูกขาดังเดิม เธอก็คิดเอาเองว่าเจ้าลานี่เองคือตัวปัญหา ทำให้กระท่อมของเธอมีสภาพไม่ต่างจากโรงเก็บขยะดังนั้นหญิงชาวบ้าน จึงวิ่งไปหยิบท่อนไม้นอกบ้านมาทุบตีลาอย่างรุนแรง ซึ่งเจ้าลาผู้น่าสงสารก็ได้ แต่ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจนสิ้นใจโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ผมคิดว่าหลายคนคงไม่ค่อยชอบตอนจบของนิทานเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เพราะสงสารลาที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรแต่กลับถูกเจ้าของลงโทษจนตาย ส่วนลิงซึ่งเป็นต้นเหตุแท้ๆ กลับรอดพ้นความผิดที่ตนเองทำไว้ และไม่ได้รับผลกรรมใดๆ เลย

นิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึง มุมมองและความเชื่อของหญิงชาวบ้าน ที่ไม่พิจารณาเหตุการณ์ให้ถ่องแท้ เชื่อแค่สิ่งที่ตนเห็นแล้วลงโทษไปตามความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัว

เธอมองเห็นข้าวของเสียหาย และมองเห็นลาที่หลุดออกมาจากเชือก แล้วตัดสินว่าลาคงเป็นผู้กระทำ แต่ไม่ได้คิดพิจารณาให้ดีก่อนว่า ลาไม่มีปัญญาจะแก้เชือกเองได้เลย และปกติก็ไม่มีนิสัยชอบรื้อทำลาย แต่เธอมองเห็นลิงยังถูกเชือกล่ามอยู่ก็คิด ว่าลิงคงไม่ใช่ผู้กระทำ แต่มองไม่ออกว่าผู้น่าจะแก้ปมเชือกได้และมีนิสัยชอบรื้อทำลายนั้นคือลิง มากกว่า

ความจริงถ้าได้มีการสำรวจร่องรอยความเสียหายเสียสักเล็กน้อยก่อน ก็จะพบรอยเท้าและฟันของลิงกระจายไปทั่วห้อง แต่จะไม่พบรอยเท้าของลาเลย เพราะลาไม่ได้ขยับตัวไปไหนเลย

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าผู้นำในองค์กร หัวหน้างาน หัวหน้าครอบครัว ฯลฯ ของเราเป็นแบบเดียวกับหญิงชราคนนี้ จะเกิดอะไรขึ้น องค์กรของเรากำลัง "ปล่อยให้ลิงสร้างปัญหา แล้วให้ลารับเคราะห์ที่ตนเองไม่ได้ทำ" หรือเปล่า

ลาก็เหมือนกับคนที่ปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ แต่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง พูดจาตรงไปตรงมา แต่ไร้เล่ห์เหลี่ยม ส่วนลิงก็เหมือนกับคนที่ฉลาดแกมโกง พูดมากนำเสนอเก่ง อ้างอิงตำราได้สารพัด แต่ไม่เคยสร้างผลงานอะไรที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย

ดังนั้น นายที่ดีไม่ควรปล่อยให้ลิงหลงระเริงว่าทำผิดเท่าไหร่นายก็ไม่มีทางรู้ ผู้เป็นนายไม่ควรยึดติดความสบาย นั่งขึ้นอืดรอฟังแต่รายงานในห้องประชุม หรือฟังแต่ลูกน้องที่มาประจบประแจงเพ็ดทูลไปเรื่อย ในทางตรงกันข้าม นายที่ดีควรจะคิดวิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุของปัญหา โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่มากกว่า

มิฉะนั้นแล้ว องค์กรของเราก็คงไม่ใช่มีแค่ลากับลิง แต่จะมีแพะเพิ่มเข้ามาอีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น