วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อนาคตของบริษัท กับการสรรหาคัดเลือกพนักงาน


เคยพบเจอกับประสบการณ์ต่อไปนี้บ้างหรือไม่ครับ เมื่อมีพนักงานลาออกจากบริษัท แล้วบริษัทจะสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนคนเก่าที่ออกไป แต่ผู้จัดการกลับบอกว่า
“ไม่ต้องรีบหาก็ได้นะ ตอนนี้ทำงานมีความสุขดีแล้ว ถ้าหาลูกน้องแบบที่เคยเข้ามา ขอไม่เอาดีกว่า”


“หามากี่คนก็ไม่เคยที่จะทำงานได้อย่างที่อยากให้ทำเลย”

“แต่ละคนที่หามานั้น พัฒนาไม่ได้เลย ได้แต่ทำงานตามคำสั่งไปวันๆ”

“แล้วจะทำยังไงต่อล่ะ ผู้จัดการก็ใกล้จะเกษียณอายุแล้ว พนักงานที่มีอยู่ก็ใช้ไม่ได้สักคน”

ฯลฯ

ถ้าบริษัทของท่านมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแสดงว่า ระบบการสรรหาและคัดเลือกพนักงานของท่านกำลังมีปัญหา

โดยปกติแล้วในการบริหารองค์กรนั้น ในยุคนี้จะหนีไม่พ้นเรื่องของเป้าหมาย ซึ่งมักจะแสดงออกมาในรูปของ Vision Mission ต่างๆ โดยที่มีการกำหนดภาพความสำเร็จขององค์กรในอนาคตข้างหน้าว่า องค์กรจะเป็นอย่างไร มีความสำเร็จในเรื่องใดบ้าง

คำถามก็คือ ความสำเร็จตาม Vision ที่เรากำหนดไว้นั้น เจ้าของธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงแค่เพียงไม่กี่คนจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ตาม วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้จริงหรือ
คำตอบก็คือ ยากมาก สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ตามวิสัยทัศน์ที่ เราต้องการก็คือ พนักงานที่มีคุณภาพ คำถามถัดมาก็คือ แล้วพนักงานที่มีคุณภาพนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไรกันแน่

นี่คือสิ่งที่องค์กรจะต้องตอบให้ได้ และต้องตอบให้ชัดเจนด้วย เนื่องจากอนาคตขององค์กรนั้นอยู่ที่พนักงานที่เราหาเข้ามา ถ้าเราหาพนักงานที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน อนาคตขององค์กรก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย ผิดกับองค์กรที่สามารถหาพนักงานที่มีคุณภาพให้เข้ามาทำงานได้ อนาคตขององค์กรก็จะรุ่งเรืองขึ้นมากเท่านั้น

ดังนั้นถ้าองค์กรของท่าน ต้องการที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ แปลว่าเราจะต้องหาพนักงานที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถนำพาองค์กรให้ไปสู่วิสัยทัศน์นั้นได้ด้วย

แปลง่ายๆ ว่า การสรรหาและคัดเลือกพนักงานนั้น จะพิจารณาแค่เพียงคุณสมบัติที่เขียนไว้ในใบพรรณนาหน้าที่งานอย่างเดียวไม่พอ แล้ว จะต้องมองให้ลึกไปกว่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องของศักยภาพ โดยพิจารณาว่า คนที่เรากำลังสรรหาคัดเลือกอยู่นั้นมีศักยภาพที่จะทำให้องค์กรเติบโตได้สัก แค่ไหน และคำว่าศักยภาพที่ควรจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากคุณสมบัติที่กำหนดไว้ใน ตำแหน่งงานนั้นเบื้องต้นก็น่าจะมีสิ่งที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
  • ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ การ ที่คนๆ หนึ่งจะมีศักยภาพสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ปัจจัยแรกที่ทำให้คนสองคนมีศักยภาพที่แตกต่างกันก็คือ การชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบหยุดนิ่ง ชอบที่จะเรียนรู้ หาแนวทาง และวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อที่จะทำให้งานของตนเองนั้นดีขึ้น ง่ายขึ้น และใช้เวลาน้อยลง ฯลฯ
  • มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน คนที่มีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่ดี มักจะเป็นคนที่มีศักยภาพที่สูงกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย เพราะจิตใจที่ดีมักจะทำให้การทำงาน และพัฒนางานใหม่ๆ ออกมาดีด้วย ทัศนคติจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่างในการทำงานของพนักงาน ดังนั้นถ้าเราสามารถหาคนที่มีทัศนคติที่ดีเข้ามาทำงานในองค์กรของเรา องค์กรของเราก็ไปถึงเป้าหมายได้ครึ่งทางแล้ว
  • ปรับตัวเร็ว และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง คนที่มีศักยภาพแปลว่า เป็นคนที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ความก้าวหน้าขององค์กรก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ถ้าเรามีพนักงานที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ช้า หรือไม่อยากปรับตัวอะไรเลย องค์กรก็จะไปสู่เป้าหมายได้ช้าลงด้วยเช่นกัน
  • มองเห็นอนาคตข้างหน้า คนที่มีศักยภาพจะเป็นคนที่มองเห็นอนาคตข้างหน้า เห็นภาพของความสำเร็จ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีพนักงานที่สามารถจะต่อยอดงานปัจจุบันไปสู่อนาคตได้ องค์กรก็จะเจริญเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ผิดกับองค์กรที่พนักงานทำงานแบบเดิมๆ มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับอะไร อีกทั้งยังมองไม่เห็นเลยว่าด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้จะทำให้องค์กรต้องปรับ ตัวอย่างไรบ้าง แบบนี้องค์กรคงยากที่จะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้
การที่บริษัทสามารถหาพนักงานที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนา พร้อมที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลง และมีทัศนคติที่ดี รวมทั้งมองเห็นภาพอนาคตว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างนั้น จะทำให้องค์กรของเราไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ได้เร็วขึ้น อนาคตของบริษัทก็จะสดใส

แต่ถ้าบริษัทมัวแต่สรรหาคัดเลือกพนักงานโดย พิจารณาจากคุณสมบัติตามตำแหน่งงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาถึงศักยภาพที่จะไปสู่อนาคตได้ องค์กรก็จะมีพนักงานที่ทำงานแบบเดิมๆ ไม่ยอมพัฒนา ยิ่งไปกว่านั้นบางคนอาจจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเอง ด้วยเลยก็มี

ท่านจะเอาอนาคตขององค์กรฝากไว้กับคนแบบไหน ก็อยู่ที่ท่านเลือกแล้วล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น