วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

งาน HR เป็นงานที่มีคุณค่าจริงหรือ (มุมมองผู้จัดการสายงาน)


เคยรู้สึกบ้างหรือไม่ครับว่า ผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งพนักงานในองค์กรของเราเองนั้น มักจะมีมุมมองต่องานบริหารทรัพยากรบุคคลว่า เป็นงานที่ไม่ค่อยมีคุณค่าอะไรต่อองค์กรมากนัก และมักจะมองว่า หน่วยงาน HR คือหน่วยงานที่มักจะชอบสร้างปัญหาอยู่เสมอ และมักจะทำให้พนักงานรู้สึกยุ่งยากในการทำงานตลอดเวลา
ในยุคปัจจุบันที่เรื่องของทรัพยากรบุคคลเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรส่วนใหญ่ก็ค่อยๆ เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับงาน HR มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีองค์กรขนาดกลาง และขนาดเล็ก (อาจจะรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่บางแห่ง) ที่ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของงาน HR สักเท่าไหร่ และมักจะมีมุมมองต่างๆ ที่ไม่ค่อยดีนัก ลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องอะไรกันบ้าง
  • HR หาคนไม่ได้ดั่งที่องค์กรต้องการ หน้าที่แรกๆ ของงาน HR ก็คือ การสรรหาและคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงานกับองค์กร สิ่งที่ผู้จัดการและพนักงานมักจะมองก็คือ HR หาคนไม่เคยได้คุณภาพเลย มักจะหาคนตามที่ตนพอใจ ไม่ใช่องค์กรพอใจ บางครั้งก็หาแบบสักแต่ว่าหาคนเข้ามาให้ได้ตามเวลาที่กำหนดแต่คุณภาพไม่เคยได้
  • HR ทำหน้าที่แค่เป็นพนักงานส่งเอกสาร ในเรื่องของการพัฒนาพนักงานนั้น ผู้จัดการสายงานมักจะมองว่า HR เป็นแค่เพียงผู้ประสานงานกับหน่วยงานหรือสถาบันฝึกอบรมภายนอกเท่านั้น ไม่เห็นจะทำหน้าที่ในการวางแผนการพัฒนาพนักงานในภาพรวมเลย เวลาที่จะขอไปอบรมทีไร ก็ทำหน้าที่แค่เพียงคนประสานงาน ติดตาม รวมทั้งคอยแจ้งว่าการสัมมนามีวันไหนอย่างไร ส่วนที่ว่าพนักงานแต่ละคนจะต้องพัฒนาอะไรบ้างนั้น HR ไม่เคยที่จะวางแผนตรงนี้แต่อย่างใด
  • HR ทำหน้าที่แค่คำนวณเงินเดือน งานอีกด้านหนึ่งของการบริหารทรัพยากรบุคคล ก็คือ การบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ผู้จัดการสายงานก็มักจะมองว่า HR ทำหน้าที่แค่เป็นคนคำนวณและจ่ายเงินเดือน แต่ไม่เคยที่จะไปหาข้อมูล หรือดูว่าเงินเดือนและสวัสดิการของบริษัทเรานั้นแข่งขันกับตลาดได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งไม่เคยที่จะหาทางพัฒนาวิธีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้พนักงานรู้สึกมีแรงจูงใจมากขึ้น มีแต่จะทำให้พนักงานหมดกำลังใจในการทำงานมากขึ้นไปอีก
  • HR สร้างปัญหาในเรื่องการประเมินผลงาน พอถึงช่วงเวลาที่ต้องมีการประเมินผลงาน ก็มักจะมาบอกว่าให้ประเมินผลงานให้ดีๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดนะ พอผู้จัดการประเมินไปให้เรียบร้อย HR ก็ส่งมาแก้ไข ว่าให้ประเมินใหม่ เพราะผลการประเมินที่ออกมานั้นไม่ถูกต้อง ให้A และ B เยอะไป ส่วน C D E นั้นไม่มีเลย ก็เลยให้กลับมาแก้ไข ซึ่งผู้จัดการสายงาน ก็แก้ไปบ่นไป แล้วก็คิดว่า แบบนี้จะมาให้ประเมินทำไมกัน HR ประเมินเองซะก็สิ้นเรื่อง ประเมินไปแล้ว บอกพนักงานไปแล้ว แต่สุดท้าย HR ก็บอกให้แก้ไขผลการประเมิน แล้วพนักงานจะรู้สึกอย่างไร ก็มีแต่ปัญหาเกิดขึ้น
  • ชอบทำตัวเป็นตำรวจ งานบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับ มักจะมองว่า HR คือผู้ถือกฎ และมักจะคอยจับผิดพนักเงานเสมอ เวลาที่พนักงานทำผิด หัวหน้าแจ้งมาว่าให้ HR เตือนด้วย แต่กลายเป็นว่า HR ไม่เคยเตือน แต่กลับมาบอกว่า นี่เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานเองที่จะต้องตักเตือนด้วยตนเอง เพราะเป็นลูกน้องของคุณเอง แล้วแบบนี้จะถือกฎไว้ทำไมกัน
  • ชอบคัดค้านสิ่งดีๆ ที่เสนอ เวลาที่ผู้จัดการสายงานต้องการที่จะเลื่อนตำแหน่งพนักงานที่ตนดูแล ก็เสนอเรื่องมาที่ฝ่ายบุคคล สิ่งที่มักจะได้รับคำตอบก็คือ แน่ใจแล้วหรือว่าคนนี้เลื่อนตำแหน่งได้ ประสบการณ์ยังไม่ถึง ผลงานยังไม่ได้เลย ขอให้พิจารณาใหม่ ฯลฯ ซึ่งทำให้ผู้จัดการสายงานรู้สึกไม่ดีอย่างมาก และมักจะมองว่า HR เป็นผู้ขัดขวางการเติบโตของพนักงานซะเอง ทั้งๆ ที่หัวหน้าอยากให้พนักงานโต แต่ฝ่ายบุคคลมาขวางไว้ไม่ให้โต
  • เป็นหน่วยงานที่มีเวลาว่างมาก ผู้จัดการสายงานมักจะมองว่างาน HR นั้นไม่มีอะไรเลย จ้างพนักงานมาตั้งเยอะ ไม่เห็นสร้างคุณค่าอะไรให้กับองค์กร ส่วนใหญ่ทำแต่งาน admin บางคนก็เห็นนั่งว่างงาน วันๆ ก็ไม่ทำอะไรเลย คนอื่นเขาทำงานกันหนักหนาสาหัส แต่เวลาเดินมาที่ฝ่าย HR ทีไรก็เห็นพนักงานนั่งว่างๆ ทุกที เห็นแล้วก็รู้สึกแย่ แถมยังมีเวลาว่างมาก ที่ชอบเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้เป็นภาระของผู้จัดการตลอดเวลา
ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นมุมมองของ ผู้จัดการสายงาน หรือ Line Manager ที่มักจะมองงาน HR ไปในทางลบมากกว่าบวก บางคนคิดเลยว่า องค์กรไม่เห็นจำเป็นต้องจ้างพนักงานฝ่าย HR ไว้เลย เอาเงินเดือนที่จ้างตรงนี้ไปขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานทำเงินดีกว่ามั้ย ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเองคิดอย่างไรครับ องค์กรของท่านมีผู้จัดการที่มองมุมมองแบบนี้หรือไม่ หรือ HR ในองค์กรของเราเป็นอย่างที่เขาว่ามาจริงๆ

เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาดูมุมมองของคน HR ที่มองงาน HR และมองผู้จัดการสายงานที่ต้องบริหารคนอย่างไรบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น